คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของอ.ที่เคยให้จำเลยอยู่อาศัยจำเลยให้การต่อสู้ว่าตึกพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับสามี ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าตึกพิพาทเป็นของอ.หรือของจำเลย ที่ศาลยกเอาสิทธิอาศัยของบุตรจำเลยที่ได้มาโดยพินัยกรรมตามที่พิจารณาได้ความมาวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี ข้อที่ว่า อ.ยกตึกพิพาทให้บุตรจำเลยอยู่อาศัยและการที่จำเลยได้อยู่ร่วมด้วยกับบุตรเป็นความสุขในครอบครัว เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ไว้ ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247ว่าจำเลยมีสิทธิอาศัยในตึกพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบุตรจำเลยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางอารี กฤษฎาพงษ์ตามพินัยกรรม จำเลยอาศัยอยู่ในตึก 4 ชั้น เลขที่ 197 ถนนรองเมืองซอย 4 อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เฉพาะชั้น 3 และชั้น 4 ในฐานะเป็นน้องสะใภ้ของโจทก์แต่ตลอดระยะเวลาจำเลยได้มีเรื่องทะเลาะกับนายสุรพัฒน์สามีจำเลย ตลอดจนญาติพี่น้องและมารดาของโจทก์โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยพักอาศัยอยู่ต่อไปจึงบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบตึกพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า ตึกพิพาทนายสุรพัฒน์สามีจำเลยเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยเงินของนายสุรพัฒน์ นางอารีเป็นแต่เจ้าของที่ดิน เมื่อนายสุรพัฒน์ได้สร้างตึกพิพาทขึ้นแล้ว จำเลยและนายสุรพัฒน์พร้อมทั้งบุตรได้อาศัยอยู่ตลอดมา ตึกพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายสุรพัฒน์ มิใช่ทรัพย์สินของนางอารีแต่อย่างใดโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยสมคบกับนายสุรพัฒน์โดยไม่สุจริต นายสุรพัฒน์หาอุบายฟ้องหย่ากับจำเลย จึงให้โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากตึกพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เคยให้จำเลยอยู่อาศัย จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกับสามีและบุตรได้อาศัยอยู่ในตึกพิพาทตลอดมา ตึกพิพาทสามีจำเลยเป็นผู้สร้างขึ้นเอง นางอารีเป็นเพียงเจ้าของที่ดิน ตึกพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับสามีมิใช่ทรัพย์สินของนางอารี จะเห็นได้ว่าตามคำให้การจำเลยเป็นการโต้แย้งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ที่ว่าจำเลยอยู่โดยละเมิด โดยโต้แย้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ว่าตึกพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกแต่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับสามี ประเด็นในปัญหานี้จึงมีว่าตึกพิพาทเป็นของนางอารีหรือของจำเลย จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบุตรกล่าวคือมิได้ให้การว่าบุตรของจำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกพิพาทอย่างไรอันจะทำให้จำเลยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 ดังกล่าวมาโต้แย้งว่าจำเลยมิได้อยู่โดยละเมิดได้ ทั้งศาลชั้นต้นก็กำหนดเป็นประเด็นพิพาทในปัญหานี้ไว้เพียงว่า “2. ตึกพิพาทเป็นของนางอารีกฤษฎาพงษ์ หรือไม่” และไม่มีฝ่ายใดคัดค้านการกำหนดประเด็นดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองยกเอาสิทธิอาศัยของบุตรจำเลยที่ได้มาโดยพินัยกรรมตามที่พิจารณาได้ความมาวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่านางอารีได้ทำพินัยกรรมยกเฉพาะชั้นที่ 3 ที่ 4 และดาดฟ้าของตึกพิพาทให้เป็นที่อยู่อาศัยของบุตรจำเลย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1563 กำหนดว่าบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ทั้งบุตรของจำเลยก็ต้องการให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกพิพาทร่วมกับบุตรเมื่อการได้อยู่ร่วมกันเป็นความสงบสุขในครอบครัว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกข้อเท็จจริงดังกล่าวอันได้มาจากพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นที่พิพาทในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยในตึกพิพาทชั้นที่ 3 ที่ 4 และดาดฟ้าของตึกพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบุตรจำเลยตามข้อกฎหมายดังกล่าว จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share