แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คนร้ายชิงทรัพย์ของโจทก์แล้วเอาไปจำนำที่โรงรับจำนำจำเลยเป็นเงินชิ้นละเกินกว่า 10,000 บาท จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ และแม้โจทก์เสียค่าไถ่ไปแล้วโดยสำคัญผิด โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยได้ เพราะการที่จำเลยรับเงินจากโจทก์เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์ให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2525 นายพรชัย หรือบึ้งเจริญวงศ์ยิ่ง ได้ชิงเอาแหวนเพชร สร้อยคอทองคำ และทรัพย์สินอื่นของโจทก์ไป เจ้าพนักงานจับนายพรชัย หรือบึ้ง เจริญวงศ์ยิ่งกับนายวันชัย และนางเสาวณิต เจริญวงศ์ยิ่ง ได้พร้อมด้วยทรัพย์ที่ชิงเอาไปหลายรายการ ทั้งนี้ โดยนางเสาวณิต ซึ่งเป็นมารดาของนายพรชัย ได้นำแหวนเพชรเรือนทองหน้าเงินเกาะเพชรลูก 15 เม็ดแหวนเพชรเรือนทองขาวเกาะเพชรลูก 25 เม็ด กับสร้อยคอทองขาวประดับเพชร63 เม็ด ไปจำนำไว้กับจำเลย นายพรชัยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานชิงทรัพย์ นางเสาวณิตและนายวันชัยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานรับของโจรในการที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางคืนนั้น จำเลยได้อ้างว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเอาทรัพย์ทั้งสามรายการไว้ตามกฎหมาย หากโจทก์ประสงค์จะนำเอาทรัพย์คืนต้องไถ่ถอนตามราคาที่รับจำนำ โจทก์จึงยอมชำระเงินค่าไถ่ถอนแก่จำเลยไป 150,000 บาท แล้วรับเอาทรัพย์ทั้งสามรายการคืนมาให้เป็นของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจได้มอบให้โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาไว้ ต่อมาโจทก์ทราบว่าการที่จำเลยรับจำนำทรัพย์ของโจทก์ทั้งสามรายการไว้แต่ละรายการเป็นเงินเกินกว่า10,000 บาท ขัดต่อพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์จำนำแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การที่จำเลยเอาเงินค่าไถ่ถอนไปจากโจทก์จำนวน 150,000 บาท เป็นการได้ทรัพย์ของโจทก์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2525 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,812.50 บาท และนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงหามีสิทธิที่จะรับเงินคืนไม่ จำเลยรับจำนำไว้โดยสุจริตมิได้สงสัยหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด แม้จำเลยรับจำนำไว้แต่ละรายการเกิน 10,000 บาทจำเลยก็ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505มาตรา 24 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 150,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ครบจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ไปจากบ้านโจทก์หลายอย่างรวมทั้งแหวนเพชรเรือนทองหน้าเงินเกาะเพชรลูก 15 เม็ด แหวนเพชรเรือนทองขาวเกาะเพชรลูก 25 เม็ดและสร้อยคอทองขาวประดับเพชร 63 เม็ดด้วย ต่อมาสืบทราบว่านางเสาวณิต เจริญวงศ์ยิ่ง นำแหวนเพชรเรือนทองหน้าเงินเกาะเพชรลูก15 เม็ด แหวนเพชรเรือนทองขาวเกาะเพชรลูก 25 เม็ด และสร้อยคอทองขาวประดับเพชร 63 เม็ด ของโจทก์ไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำของจำเลยจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางเสาวณิต นางเสาวณิตได้ใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 109,500 บาทเพื่อไม่ให้โจทก์เอาความแก่นางเสาวณิต โจทก์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินส่วนตัวของโจทก์ไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนมาจากจำเลยในราคา 150,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยจะคืนให้เพียงครึ่งเดียว ซึ่งโจทก์ไม่ยินยอม ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของจำเลยมีเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางเสาวณิตมอบเงินให้โจทก์เป็นการใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้โจทก์เอาความแก่นางเสาวณิต เงินที่นางเสาวณิตมอบให้แก่โจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินของโจทก์ไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์คืนมาจากจำเลย ก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ไถ่ทรัพย์ดังกล่าว หาใช่นางเสาวณิตเป็นผู้ไถ่คืนไม่แม้จะฟังว่าพันตำรวจตรีเรวัต ตันนานนท์ พยานโจทก์เป็นผู้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยแทนโจทก์ในการไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนก็หาใช่ข้อสาระสำคัญไม่ เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เป็นผู้ไถ่ทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลย จำเลยซึ่งเป็นโรงรับจำนำรับจำนำทรัพย์เป็นมูลค่าเกินกว่า 10,000 บาท ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ โจทก์ยอมเสียเงินค่าไถ่ทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยสำคัญผิดว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเรียกร้องเงินคืนจากจำเลยนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตการที่จำเลยรับเงินค่าไถ่จากโจทก์ไว้จึงเป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้”
พิพากษายืน