แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ และ ป.อ. มาตรา 371 ซึ่งเป็นความผิดสองกรรมแรก ศาลชั้นต้นให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไม่รับอนุญาตจำคุก 6 เดือนและความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80,83 มาตรา 364,365 ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งศาลชั้นต้นให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 335 วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80,83 จำคุก 1 ปี นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลดโทษลง 1 ใน 3 เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ท. แล้วใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของ ร.ขับหลบหนีไป แล้วจำเลยนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร จำเลยไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นพฤติการณ์ของจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์คืนรถจักรยานยนต์นั้นแต่ประการใด คงมีเจตนาเพียงต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจ ร.ให้มอบรถจักรยานยนต์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตาม ป.อ. มาตรา 309วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นโดยโจทก์ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเสียก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจะมาขอหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วและจำเลยฎีกาต่อมา จึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289, 80, 335, 336 ทวิ, 80, 339, 340 ตรี, 364, 365, 371, 83,91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 และริบอาวุธปืน กระสุนปืน ซองพกปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาต จำคุก 1 ปีฐานพาอาวุธปืนไม่รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365แต่การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 80, 83จำคุก 1 ปี ผิดตามมาตรา 289(2) ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 15 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ของกลางริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลย 45 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิวรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งเป็นความผิดสองกรรมแรก ศาลชั้นต้นให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไม่รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365 ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งศาลชั้นต้นให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 335 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 จำคุก 1 ปี นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลดโทษลง 1 ใน 3 เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในความผิดดังกล่าว…ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายทวีแล้ว จำเลยได้ใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของนายเราะขับหลบหนีไป แล้วจำเลยนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร จำเลยไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์คือรถจักรยานยนต์นั้นแต่ประการใด จำเลยคงมีเจตนาเพียงต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นแต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจนายเราะให้มอบรถจักรยานยนต์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย…ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นนั้นปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอมาท้ายฟ้องหรือขอแก้เพิ่มเติมฟ้องในเรื่องขอให้นับโทษต่อเสียก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพิ่งจะขอมาหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วและจำเลยฎีกาต่อมา จึงไม่อาจให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี จำเลยมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ด้วยให้จำคุก 1 ปี ความผิดฐานพยายามลักทรัพย์และบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365 ให้ลงโทษบทหนักที่สุดฐานบุกรุกตามมาตรา 364, 365 ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามแล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืน จำคุก8 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธปืน จำคุก 4 เดือน ความผิดฐานบุกรุกจำคุก 8 เดือน ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 33 ปี4 เดือนความผิดต่อเสรีภาพ จำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด33 ปี 32 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้นับโทษต่อ.