คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3606/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 การพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้ ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง การที่จำเลยยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่ศาลชั้นต้นรวบรัดฟังคำพยานโจทก์ว่าจำเลยมีหนี้ล้นพ้นตัวแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โดยไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้าสืบ จึงไม่เพียงพอต่อการพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 14 ดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและดำเนินการสืบพยานจำเลยต่อไปก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยให้การว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วนัดสืบพยานจำเลย ในวันนัดจำเลยขอระบุพยานเพิ่มเติม โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงไม่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม และต่อมามีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย และดำเนินการสืบพยานจำเลยตามบัญชีระบุพยานของจำเลยแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยฉบับลงวันที่19 สิงหาคม 2529 และดำเนินการสืบพยานจำเลยต่อไปอีกหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 นั้นมีบทบังคับว่า การพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้องเพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาจนกระทั่งรับฟังข้อเท็จจริงให้ได้ตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ได้ความจากตัวโจทก์ว่าบ้านที่ประกอบธุรกิจการค้าชื่อร้านกิตติพรนั้นเป็นบ้านของโจทก์ เครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจตลอดจนรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า ไฮเอซ ซึ่งนำมาบรรทุกส่งสินค้าที่ใช้ประกอบธุรกิจก็เป็นของโจทก์ และได้เอาประกันภัยในนามของโจทก์ ทั้งโจทก์เป็นผู้ชำระค่าเช่าโทรศัพท์โจทก์อ้างว่าจำเลยเช่าบ้านดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสัญญาเช่าทั้งนายอดิศักดิ์ อนุโลมสมบัติ พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คที่จำเลยนำมาแลกเงินสดกับพยาน จำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ได้ร่วมลงทุนกับจำเลยเปิดร้านค้าชื่อร้านกิตติพร เพราะโจทก์เชื่อความสามารถของจำเลย จำเลยดูแลเรื่องการเงิน โจทก์คอยคุมกิจการทั้งหมดโจทก์นำสินค้าเครื่องเขียนแบบเรียน มาร่วมลงทุนและให้ใช้ร้านกิตติพรซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านของโจทก์ด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังเปิดร้านประกอบธุรกิจการค้าขายเครื่องเขียน แบบเรียน เช่นเดียวกัน มีชื่อว่า “ช.สัมพันธ์”ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกับร้านกิตติพรห่างกันประมาณ 300 เมตรนางสาวสุนี บุญยืน ซึ่งลงชื่อรับสินค้าในใบส่งของชั่วคราวนั้นเป็นลูกจ้างของร้านช.สัมพันธ์ และร้านกิตติพร ดังนี้จึงน่าเชื่อว่า โจทก์และจำเลยน่าจะประกอบธุรกิจเป็นหุ้นส่วนกันจึงเห็นสมควรต้องฟังพยานจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นรวบรัดฟังคำพยานโจทก์ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โดยไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้ามาสืบ จึงไม่เพียงพอต่อการพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ตามบทกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นกรณีมีเหตุสมควรให้จำเลยได้สืบพยาน ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2529 และดำเนินการสืบพยานจำเลยตามบัญชีระบุพยานของจำเลย แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share