คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะที่ผู้ร้องและ ป. ผู้ตายทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันนั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมีข้อกำหนดห้าม ป. โอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 และยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และถึงแม้ว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเปี่ยม กรุณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์ เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัย “แม้ตามคำข้อท้ายอุทธรณ์ของผู้ร้องจะให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ร้องได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4118 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเปี่ยม กรุณา ผู้ตายก็ตาม แต่เนื้อหาของอุทธรณ์ก็ได้กล่าวอ้างด้วยว่า ที่ดินของผู้ตายดังกล่าว เจ้ามรดกได้ขายให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายอันเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวจึงพอแปลได้ว่า ผู้ร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกเฉพาะที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ตายได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกันนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามนายเปี่ยมโอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2531 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 และยังอนู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและถึงแม้จะได้ความตามทางไต่สวนของผู้ร้องว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไมได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผูร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอของผู้ร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share