แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทน หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดำเนินกิจการแทนจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยเกี่ยงให้ไปขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ไปขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่เป็นการปฏิเสธว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานต่อไปไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ ส่วนค่าจ้างค้างจ่ายซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวนั้น ไม่ใช่หนี้ที่จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนตาม มาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้าง ค้างจ่ายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ทันที
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบหกทำงานในบริษัทจำเลย โดยจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๙ จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว จำเลยจึงไม่จ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม ๒๕๒๙ ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่จ่ายค่าจ้างให้ และแจ้งให้ผู้ชำระบัญชีของจำเลยทราบ ผู้ชำระบัญชีได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ การที่ไม่จ่ายค่าจ้างถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้วตั้งแต่วันดังกล่าว ขอศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างก่อนที่จำเลยจะถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสิบหก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำให้การว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยมีคำสั่งไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์มิใช่เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้าง การเลิกจ้างเป็นไปโดยผลของกฎหมายกล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจดำเนินกิจการของตนเองต่อไปได้ และมีผลทำให้บรรดาลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบหกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยมิต้องมีการบอกกล่าวเลิกจ้าง ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแต่ก่อนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างทางจำเลยได้ส่งมอบงานให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการต่อไปแล้วต่อมาผู้ชำระบัญชีของจำเลยได้มีหนังสือขออนุมัติค่าใช้จ่ายประจำเดือนมกราคม ๒๕๒๙ มายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ว่า ผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ถือเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย หากประสงค์จะได้รับชำระหนี้ก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่ง หรือ คำบอกกล่าวเลิกจ้างแต่เป็นคำสั่งไม่อนุมัติการจ่ายเงินตามที่ผู้ชำระบัญชีขอมาเท่านั้น หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะร้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีล้มละลายตามมาตรา ๑๔๖ แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติตาม กลับมาดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ในขณะที่โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้บอกเลิกจ้างอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ส่วนค่าจ้างซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวนั้น โจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสิบหกยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายไปตามรูปคดีโดยคู่ความไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง (ค่าจ้างค้างจ่ายเดือนมกราคม ๒๕๒๙) ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสิบหกพร้อมด้วยดอกเบี้ย ทั้งนี้ ให้การชำระหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. ๒๔๘๓
โจทก์ทั้งสิบหกและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย ครั้นวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่จำเลยและให้ยกเลิกบริษัทจำเลยแล้วแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้น ต่อมาวันที่๑๕ มกราคม ๒๕๒๙ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๙ ผู้ชำระบัญชีของจำเลยได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขออนุมัติค่าใช้จ่ายประจำเดือนมกราคม ๒๕๒๙ ของจำเลยตลอดทั้งเงินเดือนของพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบหกด้วย วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งว่า ผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ผู้ชำระบัญชีขอมาถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย เมื่อประสงค์จะได้รับชำระหนี้ก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ การที่ผู้ชำระบัญชีขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจที่จะจ่ายให้ได้ โจทก์ทั้งสิบหกถือว่าคำปฏิเสธของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ แล้วจึงได้ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย
ในปัญหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวนั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินกิจการแทนหามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับโจทก์ทั้งสิบหกผู้เป็นลูกจ้างต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ ฉะนั้นแม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว โจทก์ทั้งสิบหกก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่นั่นเอง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดำเนินกิจการแทนจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกโดยเกี่ยงให้ไปขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้น ก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบหกไปขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่เป็นการปฏิเสธว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสิบหกทำงานต่อไปไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ทั้งสิบหกจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ ส่วนค่าจ้างค้างจ่ายประจำเดือนมกราคม ๒๕๒๙ ของโจทก์ทั้งสิบหกซึ่งถึงกำหนดจ่ายในวันสิ้นเดือนมกราคม ๒๕๒๙ ถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว จึงไม่ใช่หนี้ที่จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ และไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งก่อนตามมาตรา ๑๔๖ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบหกย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ทันที คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง