แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ก. … (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม” ซึ่งการดำเนินการเพื่อการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองลาดบังขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ฯ มิได้มี พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติในเรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำหลักตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และบริษัทที่ปรึกษาได้พิจารณาถึงที่ตั้งของที่ดิน สภาพถนน และซอยด้านหน้าของที่ดิน ลักษณะกายภาพของที่ดินสาธารณูปโภค การใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ราคาที่ซื้อขายกันจริงตามปกติในท้องตลาดในช่วงปี 2539 ดังนั้น การที่บริษัทที่ปรึกษาเห็นว่าควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 58,500 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เห็นด้วยจึงเป็นอัตราที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
การเวนคืนที่ดิน ที่ดินทุกแปลงที่อยู่ติดถนนย่อมได้รับประโยชน์จากผลของการเวนคืนแต่มากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพที่ดินที่เป็นอยู่เดิมและจำนวนเนื้อที่ดินส่วนที่เหลือ หรือบางรายอาจไม่ได้รับประโยชน์เลยหากถูกเวนคืนจนเหลือเนื้อที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ได้อย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนมีอัตราเท่ากันหรือใกล้เคียงกันทุกแปลงแม้จะอยู่บริเวณเดียวกันก็ตาม เนื่องจากต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงอื่นซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ที่ดินแต่ละแปลงมีราคาที่แตกต่างกันประกอบด้วยตามที่กล่าวข้างต้น
การเวนคืนเป็นกรณีโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกันได้ตามความในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนส่วนที่รังวัดขาดไปจำนวน 2,603,250 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนด 120 วัน ตามมาตรา 10 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้แก่โจทก์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เมื่อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามความในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 33 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่จ่ายล่าช้าดังกล่าว นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนตามมาตรา 10 กรณีนี้มิใช่กรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,603,250 บาท ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,837,960.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 9,762,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,470,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,603,250 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6118 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ที่ดินของโจทก์บางส่วนถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เนื้อที่ 124.50 ตารางวา (เดิมจำเลยทั้งสองแจ้งว่า 80 ตารางวา) คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 58,500 บาท โดยคิดตามเนื้อที่เดิม 80 ตารางวา รวมเป็นเงิน 4,680,000 บาท โจทก์ทำสัญญาการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 และไปรับเงินตามสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2540 และวันที่ 20 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ยังไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว จึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 130,000 บาท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงมาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 116,000 บาท เนื้อที่ 124.50 ตารางวา เป็นเงิน 14,442,000 บาท โจทก์รับเงินมาแล้ว 4,680,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 15,000 บาท รวมเป็นตารางวาละ 73,500 บาท และคิดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนจริง 124.50 ตารางวา รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น 9,150,750 บาท โจทก์ได้รับแล้ว 4,680,000 บาท คงเหลือที่จำเลยทั้งสองต้องชำระเพิ่ม 4,470,750 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้ แต่ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มจาก 80 ตารางวา เป็น 124.50 ตารางวา คือ 44.50 ตารางวา ตารางวาละ 58,500 บาท เป็นเงิน 2,603,250 บาท โจทก์ฎีกา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรเป็นตารางวาละ 73,500 บาท เท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนนั้นได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 ซึ่งในวรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม” ซึ่งการดำเนินการเพื่อการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหง ตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาว – บรรจบถนนสุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 มิได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติในเรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำหลักตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้วางหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนโดยพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2538 มาตรา 38 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 18, 19, 20, 21, 22 และ 24 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ข้อ 1 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 68 มีการประชุมกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 355 แปลงโดยตรวจสอบข้อมูลราคาต่างๆ ของที่ดินตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ตามตารางเปรียบเทียบราคาต่างๆ ของที่ดินเป็นรายแปลง คือ 1. ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินริมถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) ในท้องที่แขวงมีนบุรี แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ราคาไร่ละ 40,000 บาท 2. ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2539 ถึงปี 2542 ราคาตารางวาละ 4,000 บาท ถึงตารางวาละ 50,000 บาท และ 3. ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณาถึงวิธีการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่ผู้ถูกเวนคืน เพื่อให้การอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนลดลง จึงได้มีการอนุมัติจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการสำรวจและประเมินราคาเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้ง 355 แปลง ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทั้งสองบริษัทได้แถลงถึงรายละเอียดในการกำหนดเงินค่าทดแทนตามหลักวิชาแก่ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ยังได้นำข้อมูลราคาที่ซื้อขายจริงตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่อยู่ติดถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) ซึ่งสรุปได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวมีราคาซื้อขายกันจริงในปี 2537 ตารางวาละ 40,000 บาท ถึงตารางวาละ 80,000 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ยังเห็นอีกว่าการเวนคืนโครงการนี้เป็นการปรับปรุงและขยายแนวเขตถนนเดิมไม่ได้ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้น จึงไม่มีการนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน
จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และบริษัทที่ปรึกษาทั้งสองบริษัทได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาถึงที่ตั้งของที่ดิน สภาพถนน และซอยด้านหน้าของที่ดิน ลักษณะกายภาพของที่ดิน สาธารณูปโภค การใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ราคาที่ซื้อขายกันจริงตามปกติในท้องตลาดในช่วงปี 2539 ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น การที่บริษัทที่ปรึกษาทั้งสองบริษัทเห็นว่าควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 58,500 บาท และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เห็นด้วย จึงเป็นอัตราที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
ส่วนตามข้อฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาขึ้นมานั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาที่ดินของบริษัทที่ปรึกษาทั้งสองบริษัท โจทก์เพียงแต่โต้แย้งว่า ที่ดินของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนได้เงินค่าทดแทนที่ดินมากกว่าที่ดินของโจทก์ โจทก์เห็นว่าควรได้รับเท่ากัน ซึ่งในข้อนี้เห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ การเวนคืนที่ดินในคดีนี้เป็นไปเพื่อขยายถนนรามคำแหงซึ่งเดิมเป็นถนนลาดยางกว้าง 30 เมตร มี 2 ช่องเดินรถ ไม่มีทางเท้า และท่อระบายน้ำให้กลายเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 50 เมตร มี 6 ช่องเดินรถ มีทางเท้า ท่อระบายน้ำ และสาธารณูปโภคครบครัน ดังนั้น ที่ดินทุกแปลงที่อยู่ติดถนน ย่อมได้รับประโยชน์จากผลของการเวนคืนแต่มากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพที่ดินที่เป็นอยู่เดิมและจำนวนเนื้อที่ดินส่วนที่เหลือ หรือบางรายอาจไม่ได้รับประโยชน์เลยหากถูกเวนคืนจนเหลือเนื้อที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ได้อย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนมีอัตราเท่ากันหรือใกล้เคียงกันทุกแปลงแม้จะอยู่บริเวณเดียวกันตาม เนื่องจากต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงอื่นซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ที่ดินแต่ละแปลงมีราคาที่แตกต่างกันประกอบด้วยตามที่กล่าวข้างต้น คดีนี้โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นถึงราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดของโจทก์ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา และไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าเหตุใดที่ดินของโจทก์จึงควรได้เงินค่าทดแทนที่ดินในอัตราที่เท่ากับที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงในขณะที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาถึง 2 บริษัท มาทำการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้อย่างเป็นธรรมที่สุด โดยบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวแบ่งประเภทที่ดินออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดินโจทก์ปรากฏว่าเดิมที่ดินโจทก์เป็นที่ว่างเปล่า ยังไม่ได้ถม ต่อมามีผู้มาเช่าที่ดินโจทก์ทำกิจการขายไม้ดอกไม้ประดับ ผู้เช่าจึงถมดินเฉพาะส่วนที่เช่า 1 ไร่ ตามสัญญา และก่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียวไว้เป็นสำนักงานและที่พักชั่วคราว ซึ่งเมื่อครบกำหนดอายุสัญญา ผู้เช่าจะต้องรื้อถอนออกไป จึงมิใช่สิ่งปลูกสร้างถาวร รวมทั้งกิจการขายไม้ดอกไม้ประดับก็ต้องเลิกกิจการ ดังนั้น ลักษณะการใช้และการพัฒนาที่ดินของโจทก์จึงไม่มีลักษณะเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรมตามความหมายที่แท้จริงในบทนิยามที่คณะศึกษาวิจัยได้กำหนดไว้ ส่วนที่ดินที่โจทก์อ้างและจะนำมาเทียบเคียงกับที่ดินของโจทก์ คือที่ดินของนางประไพ แสวงผล ซึ่งมีการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 115,500 บาท ก็ปรากฏว่ามีการใช้ที่ดินและปรับปรุงที่ดินด้วยการสร้างอาคารพาณิชย์ 4.5 ชั้น ส่วนที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นของนางประไพเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะของการใช้ที่ดินและปรับปรุงที่ดินด้วยการสร้างอาคารไม้ชั้นเดียว บริษัทที่ปรึกษาทั้งสองก็เห็นว่าควรกำหนดราคาเงินค่าทดแทนที่ดินให้เท่ากับที่ดินของโจทก์คือตารางวาละ 58,500 บาท ที่ดินที่โจทก์อ้างอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินของนายวิรุฬห์ ขจรเกียรติพาณิชย์ กับพวก ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 116,000 บาท ก็ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการพัฒนาแล้วด้วยการสร้างอาคารไว้ในพื้นที่ มีลักษณะเป็นที่ดินพาณิชยกรรมแท้จริง ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินและการพัฒนาที่ดินของโจทก์แล้วจะเห็นว่าศักยภาพในการใช้ประโยชน์และการพัฒนาที่ดินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง จึงนำมาเทียบเคียงกับที่ดินของโจทก์ไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนการถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงใหญ่มีเนื้อที่ถึง 9 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา มีลักษณะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว อยู่ลึกเข้าไปจากถนนรามคำแหงมากถึง 400 เมตร แม้จะถูกเวนคืนตัดส่วนด้านหน้ากว้างของที่ดินนับจากแนวถนนลึกเข้าไป 15 เมตร ยังคงเหลือความลึกของที่ดินอีกถึง 385 เมตร มีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอีก 9 ไร่ 2 งาน 51.50 ตารางวา ในขณะที่ที่ดินของนายวิรุฬห์เป็นที่ดินแปลงเล็ก 2 แปลง มีเนื้อที่เพียงแปลงละ 25 ตารางวาเท่านั้น แต่ถูกเวนคืนที่ดินลึก 15 เมตร เท่ากับโจทก์ ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากผลของการเวนคืนมากกว่า ทั้งในเรื่องความสะดวกจากการใช้สอยที่ดินส่วนที่เหลือและผลประโยชน์ของราคาที่เพิ่มขึ้นจากผลของการขยายถนน เปลี่ยนสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ให้เจริญขึ้นจากเดิมที่อยู่ติดถนนลาดยางขนาด 2 ช่องเดินรถเป็นอยู่ติดถนนคอนกรีตขนาด 6 ช่องเดินรถ ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจะต้องนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาประกอบด้วย นอกจากนี้มีที่ดินอีกหลายแปลงซึ่งไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกับที่ดินของโจทก์แต่ถูกเวนคืนโครงการเดียวกันและอยู่ติดถนนรามคำแหงเหมือนกัน ที่โจทก์อ้างว่าได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละประมาณ 100,000 บาท ขึ้นไป ก็ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวนี้มีการพัฒนาแล้ว เช่น ที่ดินของนางประจวบ แต่งตั้ง ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 106,500 บาท ก็เป็นที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมัน Q8 ที่ดินของนางขนิษฐา แต่งตั้ง ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 116,000 บาท ก็เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน 2 ชั้น ที่ดินของนางแสนสุข หมอปาน ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 109,500 บาท ก็เป็นที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมัน JET และที่ดินของนายศุภชัย ใกล้ชิด ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 113,500 บาท ก็เป็นตึก 2 ชั้น
จากข้อวินิจฉัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแสดงว่า ทั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และบริษัทที่ปรึกษาทั้งสองบริษัทได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดวันคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดิน 2,603,250 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนแรกนั้น เห็นว่า เงินจำนวน 2,603,250 บาท ดังกล่าวเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เกิดจากการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์แล้วพบว่ามีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่สำรวจไว้เดิมอีก 44.50 ตารางวา โดยการสำรวจเนื้อที่ดินของโจทก์ส่วนที่จะต้องถูกเวนคืนทั้งหมดในครั้งแรกมีความคลาดเคลื่อนเนื้อที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนตามจำนวนที่ถูกต้องคือ 124.50 ตารางวา ซึ่งหากฝ่ายจำเลยดำเนินการรังวัดจำนวนเนื้อที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนทั้งหมดถูกต้องครบถ้วนมาตั้งแต่แรกแล้ว เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์พร้อมกันเต็มจำนวนตามเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจริง และโดยเหตุที่การเวนคืนในคดีนี้เป็นกรณีโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกันได้ตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนส่วนที่รังวัดขาดไปจำนวน 2,603,250 บาท ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย และคดีนี้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนด 120 วัน ตามมาตรา 10 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 เมื่อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนนี้เป็นเงินที่จ่ายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามความในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 33 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่จ่ายล่าช้าดังกล่าวนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนตามมาตรา 10 กรณีนี้มิใช่กรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,603,250 บาท ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์