แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) หมายความถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ลงโทษจำเลย มิใช่โทษจำคุกที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดในการลงโทษ
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี โทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดในกรณีนี้จึงเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี กรณีเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยเพียงกระทงละ 3 ปี ก็ไม่ทำให้เป็นกรณีตามบทบัญญัติมาตรา 91 (1)
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสิบสองสำนวนว่าโจทก์และเรียกจำเลยทั้งสิบสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายคนละ 40,000 บาท ยกเว้นรายนางสาวประจิน พามา ให้คืนจำนวน 50,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 กรณีเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กรณีเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษรวม 12 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมทุกกระทงแล้วรวมจำคุกจำเลย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายคนละ 40,000 บาท แต่จำเลยไม่ต้องคืนเงินให้แก่นายพยอม ฮาดฟอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 12 กระทง คงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี รวม 12 กระทง โทษจำคุกรวมทุกกระทงแล้วต้องไม่เกิน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) มิใช่ไม่เกิน 20 ปี ตามมาตรา 21 (2) เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่ม ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงหนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี (3)…” บทบัญญัติที่ว่า กรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ตามมาตรา 91 (1) นั้น หมายความถึงอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่ลงโทษจำเลย หาใช่โทษจำคุกที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดในการลงโทษไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี โทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดในกรณีนี้จึงเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี กรณีเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 91 (2) แม้ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยเพียงกระทงละ 3 ปี ก็หาทำให้เป็นกรณีตามบทบัญญัติมาตรา 91 (1) ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 12 กระทง คงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน