คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างเป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้างจึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าชดเชยซึ่งทำขึ้นผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ เพราะจำเลยปิดกิจการ จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 12,000 บาท ขาดไป 24,000 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 3,000 บาท ขาดไป 2,580 บาท จ่ายให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 5,170 บาท ขาดไป 6,630 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โรงงานผลิตเหล็กของจำเลยประสบการขาดทุนไม่สามารถผลิตเหล็กต่อไปได้ จำเลยจึงต้องปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 15กันยายน 2524 ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยขึ้น แต่โจทก์จำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทโดยโจทก์ทั้งสามยอมรับค่าชดเชยที่จำเลยเสนอให้ ปรากฏตามบันทึกการจ่ายค่าชดเชยลงวันที่ 15 กันยายน 2524 ไว้ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไปด้วยการประนีประนอมกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานและวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับค่าชดเชยเป็นโมฆะ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 24,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน2,580 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 6,630 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสามถูกเลิกจ้างนั้น มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง เป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้าง เพราะลูกจ้างย่อมมีฐานะในทางเศรษฐกิจด้อยกว่านายจ้าง หากปล่อยให้มีการทำความตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชยกันได้ฐานะทางเศรษฐกิจอันเสียเปรียบของลูกจ้างก็อาจเป็นเหตุโน้มน้าวให้ลูกจ้างจำต้องยอมรับข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของตน เป็นเหตุของความระส่ำระสายและเกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งทำขึ้นผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้แม้จำเลยจะอ้างในอุทธรณ์ว่าฝ่ายตนต้องได้ความเดือดร้อนยิ่งกว่าฝ่ายลูกจ้างเพราะต้องประสบกับการหมดเนื้อหมดตัวก็เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีว่า จำเลยจะสามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นเหตุให้หลักกฎหมายในข้อนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษายืน

Share