แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ (ใช้บังคับระหว่างปี พ.ศ. 2509ถึง พ.ศ. 2510) ที่บัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไร ออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ ฯลฯ” นั้นหมายความว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรและเงินที่จำหน่ายนั้นต้องเป็นกำไรโดยแท้จริงหรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไร โจทก์เป็นเพียงผู้ทำการแทนทำการติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยในการขายสินค้าแทนบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อติดต่อได้ลูกค้าในประเทศไทยแล้ว โจทก์จะแจ้งให้บริษัทนั้นทราบว่ามีลูกค้าในประเทศไทยต้องการซื้อสินค้าชนิดใด แล้วบริษัทดังกล่าวจะติดต่อทำสัญญากับลูกค้ารับเงินจากลูกค้า และส่งสินค้าให้ลูกค้าเอง โจทก์เพียงแต่ได้รับค่านายหน้าจากผู้ขายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของลูกค้า ไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงิน ซึ่งลูกค้าส่งไปเป็นค่าซื้อสินค้าบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นเอง อันจะถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา70 ทวิอีก
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 กับคณะในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้เรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและจากการนำสืบของโจทก์จำเลยฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นผู้ทำการแทนทำการติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยในการขายสินค้าแทนบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อติดต่อได้ลูกค้าในประเทศไทยแล้วโจทก์ก็จะแจ้งไปยังบริษัทอาตาก้าในประเทศญี่ปุ่นว่ามีลูกค้าในประเทศไทยต้องการซื้อสินค้าชนิดใด เมื่อบริษัทอาตาก้า จำกัดในประเทศญี่ปุ่นรับแจ้งแล้วก็จะส่งสัญญาซื้อขายตรงไปยังลูกค้า เมื่อลูกค้าลงชื่อเป็นคู่สัญญาแล้วก็จะเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตส่งไปชำระราคาสินค้าให้กับบริษัทอาตาก้า จำกัดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อทางบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นได้รับเงินแล้วก็จะจัดส่งสินค้ามาให้ลูกค้า และจัดส่งค่านายหน้ามาให้โจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของลูกค้า ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2509 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2510 บริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย โดยมีโจทก์เป็นผู้ทำการแทนทำการติดต่อ มีกำไรสุทธิจำนวน 147,497 บาท 79 สตางค์ แต่บริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้แทนบริษัทอาตาก้าจำกัด ในประเทศญี่ปุ่นมิได้ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้แทนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ และมิได้เสียภาษีในกรณีจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1037/2/01794ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2520 ให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิจำนวน 147,497 บาท 79 สตางค์ เป็นเงิน 22,124บาท 67 สตางค์ กับเงินเพิ่มอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีเป็นเงิน 44,249 บาท34 สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,374 บาท 01 สตางค์ไปชำระให้กับจำเลยแทนบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิภายใน 30 วัน และได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1037/2/01795ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2520 ให้โจทก์เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิอีกในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิจำนวน 147,497 บาท 79 สตางค์ เป็นเงิน22,124 บาท 67 สตางค์ กับเงินเพิ่มอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีเป็นเงิน 44,249บาท 34 สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,374 บาท 01 สตางค์ ไปชำระให้จำเลยใน 30 วัน โดยจำเลยเห็นว่าเงินที่ลูกค้าส่งไปชำระราคาสินค้าให้แก่บริษัทอาตาก้าจำกัด ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีกำไรสุทธิจำนวน 147,497 บาท 79 สตางค์ดังกล่าวแอบแฝงไปด้วย โจทก์ยอมเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 66,374บาท 01 สตางค์ แทนบริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่นให้จำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ส่วนภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิอีก 66,374 บาท 01 สตางค์ โจทก์ไม่ยอมเสียเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ส่งเงินผลกำไรไปให้บริษัทอาตาก้า จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น จงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
ปัญหาวินิจฉัยมีว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1037/2/01795ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2520 ของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ รวมทั้งเงินเพิ่มอีกรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,374 บาท 01 สตางค์ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ซึ่งใช้บังคับอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2509 ถึงพ.ศ. 2510 ขณะที่ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นบัญญัติว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยให้เสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้นในอัตราร้อยละ 15 โดยนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่าย” ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความว่าผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายกำไรนั้น ต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรและเงินที่จำหน่ายนั้นต้องเป็นกำไรโดยแท้จริง หรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไรแต่คดีนี้ไม่ปรากฏเลยว่า โจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร ปรากฏแต่เพียงว่าเงินที่ลูกค้าส่งไปให้แก่บริษัทอาตาก้าจำกัด ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นเพียงเงินค่าวื้อสินค้า ซึ่งลูกค้าเป็นผู้ส่งเองทางเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่จำเลยอ้างว่า เงินค่าซื้อสินค้าเหล่านั้นมีเงินกำไรรวมอยู่ด้วย จึงต้องถือว่ามีการจำหน่ายกำไรด้วยนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะโจทก์มิได้เป็นผู้จำหน่ายเงินจำนวนดังกล่าวนั้น กรณีดังกล่าวนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิอีก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4/2521 ระหว่าง บริษัทมิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์กรมสรรพากร กับพวก จำเลย”
พิพากษายืน