คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่
ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงว่าทนายโจทก์มิได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 92, 93, 334, 336 ทวิ, 358, 359, 362 และ 365 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์สองครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ในวันดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ตอบรับตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 แต่ยื่นเวลา 19.43 นาฬิกา ซึ่งนอกเวลาทำการปกติของศาล ถือว่าเป็นการส่งในวันทำการแรกที่ศาลเปิดทำการปกติ เป็นการยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่นำสืบโต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 และวันที่ 19 มกราคม 2561 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ในวันดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีกโดยทางไปรษณีย์ตอบรับซึ่งระบุเวลา 19.43 นาฬิกา นอกเวลาทำการปกติของศาลแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ว่า เหตุที่โจทก์อ้างเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในกำหนดหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทนายโจทก์จะเรียงอุทธรณ์ให้ทันภายในกำหนดเพราะทนายโจทก์ทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่โจทก์ยื่นฎีกาว่า ทนายโจทก์เสร็จคดีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และมีลูกความโทรศัพท์ให้ไปรับเอกสาร ทั้งที่ทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการปกติของศาล แต่ทนายโจทก์กลับเดินทางไปรับเอกสารจากคู่ความที่ตำบลลาดหญ้า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 20 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ไม่ได้สนใจติดต่อศาลชั้นต้น ข้ออ้างว่ารถยนต์ของทนายโจทก์เสียระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลาทำการปกติของศาล จึงเกิดจากความบกพร่องของทนายโจทก์เอง ตามพฤติการณ์ของทนายโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายสิ้นสุดลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งยกคำร้องขอมานั้นโดยฟังว่าไม่มีเหตุสุดวิสัยศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share