คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำส่วนคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ เห็นได้ว่าข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเรื่องจำเลยผิดสัญญาอันเนื่องมาจากหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำฉบับเดียวกัน แม้คำขอบังคับท้ายฟ้องทั้งสองคดีจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกันคือจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทหรือไม่ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำโจทก์สามารถตรวจสอบจากเจ้าพนักงานที่ดินได้ จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนแล้ว ซึ่งโจทก์อาจฟ้องเรียกจากจำเลยได้ในคดีดังกล่าว แต่โจทก์หาฟ้องไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์คดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 394 ตำบลบางพรมฝั่งใต้อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ในราคา 2,000,000 บาทนัดโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2531 ในการโอนกรรมสิทธิ์จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรแต่เพียงผู้เดียว เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้น และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปแสดงเจตนาแทนจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานที่ดินแล้ว และนำเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือวางศาล ในการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรซึ่งจำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระเป็นเงิน 273,582 บาท โดยในการวางเงินต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้จำเลยนั้น โจทก์ขอหักค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์จำนวนดังกล่าวแต่ศาลไม่อนุญาต และจำเลยก็ไม่ยอมชำระให้โจทก์โจทก์ติดต่อทวงถามจำเลยหลายครั้งซึ่งคดีดังกล่าวศาลไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งเป็นมูลคดีต่างกันการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน359,077 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 273,582 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รวมเป็นเงิน 171,300 บาทกับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่เหลือจากหักค่าเสียหายให้จำเลยจำนวน 550,000 บาทแต่เมื่อโจทก์ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ชำระเงินให้จำเลยเพียง 104,118 บาท (ที่ถูก 105,118 บาท) ยังไม่ได้ชำระให้จำเลยอีก 273,582 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีให้โจทก์ชำระเงิน273,582 บาท แก่จำเลย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งนี้ ในการฟ้องคดีตามคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องส่วนนี้จากจำเลยและเมื่อคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโจทก์จะมาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เรียกร้องค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอีกไม่ได้ เพราะเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปแสดงเจตนาแทนจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ที่สำนักงานที่ดิน โจทก์ขอหักค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำนวนเงินที่โจทก์นำมาวางศาลเพื่อชำระค่าที่ดินพิพาทที่ค้างชำระแก่จำเลย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคดีหมายเลขแดงที่ 5503/2537 ของศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเรื่องนี้โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยต้องรับผิดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้น ข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ทำให้โจทก์เสียหาย เห็นได้ว่าข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเรื่องจำเลยผิดสัญญา อันเนื่องมาจากหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำฉบับเดียวกัน แม้ว่าฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532ของศาลชั้นต้นโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกันคือจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทหรือไม่ ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำโจทก์สามารถตรวจสอบจากเจ้าพนักงานที่ดินได้ จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้นแล้ว ซึ่งโจทก์อาจฟ้องเรียกจากจำเลยได้ในคดีดังกล่าว แต่โจทก์หาฟ้องไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2918/2532 ของศาลชั้นต้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share