แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัท ท. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขายผ้าสำเร็จรูปให้โจทก์ในเดือนสิงหาคม 2538 จำนวน 2 ครั้งและในเดือนกันยายน 2538 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 322,509 บาทและบริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน(ธนาคารกสิกรไทย จำกัด) ของห้างหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ไปแล้ว กับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลยสำหรับเดือนภาษีสิงหาคมและกันยายน 2538 และได้มีการ ขายสินค้าและออกใบกำกับภาษีของบริษัทดังกล่าวให้โจทก์ ประกอบกับบริษัท ท. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ)เกิน 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปีมีความประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขาย หักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีด้วย ดังนั้น บริษัทดังกล่าว จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีพิพาทจึงออกโดยผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี แม้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการขายส่งผ้ายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในปี 2537 ถึง 2539 ทุกเดือนแต่ไม่มี ภาษีที่ต้องชำระเลย คงมีแต่รายการขอคืนภาษีทุกเดือน เป็นการประกอบกิจการที่ผิดปกติการค้าโดยทั่วไปที่มี รายการยอดซื้อมากกว่ายอดขายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องผลประกอบ กิจการของบริษัทอื่น ไม่เกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใดโจทก์จึงมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีพิพาทมาใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของโจทก์ทั้งหมด ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ ต.1/3014220/5/104034 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2540เลขที่ ต.1/3014220/5/104033 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2540และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (กม.3)/2541/198ลงวันที่ 17 เมษายน 2540 เลขที่ สภ.1 (กม.3) 12541/193 ลงวันที่ 17 เมษายน 2540 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ใบกำกับภาษีตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 107 และ 108 และใบกำกับภาษีตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 109 และ 110 เป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์มีนายประดิษฐ์ เพ็งเจริญ ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์และนางสาวประพิศ สุธรรมภาวดี สมุห์บัญชีของบริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ผู้ออกใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวมาเบิกความว่า บริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย จ.3 ขายผ้าสำเร็จรูปให้โจทก์ในเดือนสิงหาคม 2538 จำนวน 2 ครั้ง ตามรายงานภาษีขายเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 11 ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 107 ถึง 108 เป็นเงิน 267,132 บาท และในเดือนกันยายน 2538 จำนวน 2 ครั้ง ตามรายงานภาษีขายเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 23 ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 109 ถึง 110 เป็นเงิน 332,509 บาท และบริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกสิกรไทย จำกัดของนางพนิดา ตรีพงษ์พันธ์ หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ไปแล้วตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 56 และ 59 กับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลยสำหรับเดือนภาษีสิงหาคมและกันยายน 2538เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 127 และ 128 แล้ว เห็นว่านอกจากโจทก์จะมีใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 107ถึง 110 มาเป็นหลักฐานแล้ว โจทก์ยังมีนางสาวประพิศ สุธรรมภาวดีสมุห์บัญชีของบริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาทให้โจทก์มาเบิกความยืนยันว่า ได้มีการขายสินค้าและออกใบกำกับภาษีของบริษัทดังกล่าวให้โจทก์ปรากฏตามรายงานภาษีขายของบริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัด เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 11 และ 23ประกอบกับบริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกิน 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี มีความประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 เอกสารหมาย จ.3 ดังนั้น บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีพิพาทออกโดยผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นว่า แม้โจทก์จะนำผู้ออกใบกำกับภาษีคือ บริษัทไทยยูเนี่ยนเท็กซ์ไทล์ จำกัดมาพิสูจน์ แต่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการขายส่งผ้ายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในปี 2537 ถึง 2539ทุกเดือน แต่ไม่มีภาษีที่ต้องชำระเลย คงมีแต่รายการขอคืนภาษีทุกเดือนเป็นการประกอบกิจการที่ผิดปกติการค้าโดยทั่วไปที่มีรายการยอดซื้อมากกว่ายอดขาย จึงไม่น่าจะดำเนินการติดต่อกันมาได้นานหลายปีใบกำกับภาษีที่บริษัทดังกล่าวออกให้โจทก์เป็นใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องผลประกอบกิจการของบริษัทอื่น ไม่เกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำภาษีซื้อตามเอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 107 ถึง 110 มาใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ได้”
พิพากษายืน