คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสิ่งของที่เก็บไว้ในโรงเรือนของจำเลยเป็นสินค้าทั้งจำเลยทำการค้าเปิดร้านอีกแห่งหนึ่งและปรากฏว่าบางทีจำเลยเอาสินค้านี้ไปใส่ร้านค้าของจำเลยนั้น ดังนี้ถือได้ว่าโรงเรือนจำเลยเป็นที่ไว้สินค้าตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 10 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ไม่จำเป็นว่าจำเลยจะต้องเปิดทำการค้าที่โรงเรือนนี้หรือถึงกับจะต้องใช้โรงเรือนนี้เป็นที่รับทำการเก็บสินค้าเพื่อบำเหน็จจึงจะเป็นที่ไว้สินค้า และเมื่อจำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการแห่งทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยย่อมมีความผิด.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจฝ่าฝืนไม่ยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด โดยจำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนตึก ๒ ชั้น ๒ คูหา ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชอันเป็นสถานที่ที่จำเลยและครอบครัวพักอาศัย และได้ใช้เป็นสถานที่เก็บสินค้าต่าง ๆ จากที่จำเลยมีร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องรับประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องไปขอรับแบบแสดงรายการทรัพย์สิน (ภ.ร.ด.๒) นำมากรอกรายการยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๑๙,๒๐,๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๑๙,๒๐,๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ ให้ปรับจำเลย ๒๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาคัดค้านในข้อกฎหมายว่า โรงเรือนของจำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบรายการแสดงทรัพย์สิน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาและซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป” ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้โรงเรือนตามฟ้องเป็นสถานที่เก็บสินค้าของจำเลยอยู่พลาง ๆ ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. ๒๔๗๕ (ควรเป็น พ.ศ. ๒๕๐๕)มาแล้วชั่วแต่ยังไม่เปิดเป็นร้านค้าซื้อขายที่นั่นด้วยเท่านั้น บางทีก็เอาสินค้าที่เก็บ ณ ที่นี้ไปใส่ร้านค้าของจำเลยอีกแห่งหนึ่งด้วย ดังนี้จึงเห็นว่า เมื่อสิ่งของที่เก็บไว้ในโรงเรือนนี้เป็นสินค้า ทั้งความจริงจำเลยได้ทำการค้าเปิดร้านอีกแห่งหนึ่ง และปรากฏว่าบางทีจำเลยเอาสินค้านี้ไปใส่ร้านค้าของจำเลยนั้นก็ถือได้ว่าโรงเรือนของจำเลยเป็นที่ไว้สินค้าตามความในมาตรา ๑๐ ดังกล่าวแล้ว เพราะเป็นสิ่งของที่มีไว้ซื้อขายในการค้าของจำเลย ไม่จำเป็นว่าจำเลยจะต้องเปิดทำการค้าที่โรงเรือนนี้หรือถึงกับจะต้องใช้โรงเรือนนี้เป็นที่รับทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จจึงจะเป็นที่ไว้สินค้า พิพากษายืน.

Share