คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา5แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522แต่งตั้งให้ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองรวมทั้งอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรก็มีอำนาจเรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันเพื่อประกันว่าคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดตามมาตรา19แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522ดังนี้ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรให้เรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจเข้าทำสัญญาประกันโดยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับผู้ประกันได้เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันคนต่างด้าวทั้งสามและหากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้และหากผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์เห็นสมควรมีคำสั่งให้ผ่อนผันการปรับจำเลยก็ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเช่นนั้นในฐานะคู่สัญญากับจำเลยและตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมตำรวจหรือกรมตำรวจก่อนดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้แสดงเจตนาปลดหนี้ให้จำเลยแล้วตามสัญญาประกันย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา340จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันโดยทำเป็นบันทึกรับรองกับโจทก์ว่า นางโจวอี้ เหลียน พร้อมบุตร คือเด็กชายหวัด คังซินและเด็กชายหวัง คังนั่ว คนต่างด้าวสัญชาติจีน ถือหนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวเพื่อเยี่ยมญาติ และเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาโดยจะเป็นผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว และเมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยจะจัดให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดทันที กับจะปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทุกประการ ถ้ามีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขยอมให้ปรับเป็นเงินรายละ 20,000 บาท นางโจวอี้เด็กชายหวัง คังซิน และเด็กชายหวัง คังนั่ว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2525 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 15 กันยายน 2525 แต่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2525 จึงอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 3 วัน จำเลยจึงผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยนำค่าปรับไปชำระภายใน 15 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2525 จำเลยได้ไปติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อให้บุคคลทั้งสามเดินทางไปนอกราชอาณาจักรในวันที่ 14 กันยายน2525 แต่ปรากฏว่าไม่มีเที่ยวบินที่จะเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันดังกล่าวคงมีแต่เที่ยวบินวันที่ 18 กันยายน 2535การที่บุคคลทั้งสามเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรล่าช้านั้นกองตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และขาดเจตนาที่จะอยู่เกินกำหนด จึงมีคำสั่งยุติไม่ปรับจำเลย ซึ่งเป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิปรับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าในกรณีเมื่อมีการผิดสัญญาและต้องฟ้องร้องดำเนินคดี พนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองไม่อาจดำเนินการได้โดยลำพังต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมตำรวจก่อน เมื่ออธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้แทนนิติบุคคลและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอนุมัติหรือสั่งการใดแล้วจึงจะดำเนินการได้ ดังนั้นบันทึกการผ่อนผันไม่ปรับจำเลยของผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองจึงเป็นเพียงความเห็นและยังไม่ถือว่าสิ้นสุด หนี้ตามสัญญาจึงไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นางโจวอี้เด็กชายหวัง คังซิน และเด็กชายหวัง คังนั่ว เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2525 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 15 กันยายน 2525 แต่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2525 จึงอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 3 วัน กองตรวจคนเข้าเมืองสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า การที่คนต่างด้าวทั้งสามอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดเวลาเนื่องจากเข้าใจผิดและขาดเจตนาที่จะอยู่เกินกำหนดผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองได้ผ่อนผันการปรับจำเลยแล้วเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แต่งตั้งให้ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรากฏตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง รวมทั้งอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และหากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรก็มีอำนาจเรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันเพื่อประกันว่าคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนด ตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรให้เรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันดังกล่าวดังเช่นในคดีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจเข้าทำสัญญาประกันโดยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับผู้ประกันได้เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันคนต่างด้าวทั้งสามและหากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ และหากผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์เห็นสมควรมีคำสั่งให้ผ่อนผันการปรับจำเลยก็ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเช่นนี้ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยและตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมตำรวจหรือกรมตำรวจก่อน ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้แสดงเจตนาปลดหนี้ให้จำเลยแล้ว หนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันจำนวน60,000 บาท ย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 340 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share