แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
‘นายจ้าง’ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หมายถึงผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งมีความหมายว่า งานที่ลูกจ้างทำนั้นจะต้องเป็นงานของนายจ้างเองและค่าจ้างก็ต้องหมายความถึงเงิน หรือเงินและสิ่งของของนายจ้างด้วย เมื่อปรากฏว่างานที่โจทก์รับจ้างทำเป็นงานที่จำเลยที่ 2 รับจ้างเหมามาทำและค่าจ้างก็เป็นเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 2 มิใช่งานและเงินของจำเลยที่ 1 ดังนี้ นายจ้างที่แท้จริงของโจทก์คือจำเลยที่ 2 หาใช่จำเลยที่ 1 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นช่างไม้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะหมดงาน จำเลยค้างค่าจ้างทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ 2,100 บาท ค่าทำงานล่วงเวลา 3,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ 2,100 บาท ค่าทำงานล่วงเวลา 3,500บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์นางบัวจันทร์ภริยาจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างจำเลยที่ 2 ทำเฟอร์นิเจอร์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัด
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ร่วมกันพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์รวม 5,600 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นางบัวจันทร์ภริยาจำเลยที่ 1ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 ให้ทำเฟอร์นิเจอร์และตบแต่งอาคาร โจทก์สมัครเข้าทำงานช่างไม้ในการตบแต่งอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้โจทก์มาทำงานได้ สำหรับค่าจ้างโจทก์รับจากนางสาวฉวีลักษณ์ผู้ทำบัญชีของจำเลยที่ 1 แต่เงินค่าจ้างที่นางสาวฉวีลักษณ์จ่ายให้โจทก์เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายทดรองแทนจำเลยที่ 2 แล้วนำไปหักกับเงินค่าจ้างตบแต่งบ้านที่จำเลยที่ 2 จะได้รับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ยินยอม เห็นว่า จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเหมาตบแต่งอาคารให้ภริยาจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำเลยที่ 2 จะต้องทำงานที่รับเหมาให้เสร็จภายใน 9 เดือน หากผิดสัญญาทำงานไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จะต้องถูกปรับวันละ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชอบในผลสำเร็จของงานที่รับจ้างเหมาแต่ผู้เดียว ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ้างโจทก์ทำงานชิ้นเดียวกันเป็นส่วนตัว โดยเสียค่าจ้างเป็นการซ้ำซ้อนอีก เงินค่าจ้างที่โจทก์ได้รับก็เป็นเงินที่หักจากค่าจ้างเหมาที่จำเลยที่ 2 จะได้รับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน คำว่า “นายจ้าง” หมายถึงผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งมีความหมายว่างานที่ลูกจ้างทำนั้น จะต้องเป็นงานของนายจ้างเองและค่าจ้างก็ต้องหมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของของนายจ้างเอง แต่งานที่โจทก์รับจ้างทำเป็นงานที่จำเลยที่ 2 รับเหมามาทำ และค่าจ้างก็เป็นเงินส่วนที่จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 2 เมื่องานที่โจทก์รับจ้างไม่ใช่งานของจำเลยที่ 1 และค่าจ้างก็ไม่ใช่เงินของจำเลยที่ 1 ดังนี้ นายจ้างที่แท้จริงของโจทก์จึงหาใช่จำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 2 ต่างหากที่เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง