แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนของฝ่ายรับข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 16 นั้น กฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องกระทำในรูปแบบใด เพียงแต่บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ลูกจ้างจำเลยสองคนมาเป็นผู้แทนในการเจรจาตกลงกับฝ่ายเรียกร้องจึงใช้บังคับได้ แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรก็ตาม
การประนอมข้อพิพาทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ นั้นหมายถึงทั้งสองฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันเพื่อที่จะระงับข้อพิพาทแรงงานอันเกิดจากการเรียกร้องของลูกจ้างดังนั้นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันโดยมีเหตุสืบเนื่องมาจากการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างนั้นย่อมใช้บังคับได้
ข้อบังคับของบริษัทที่ว่าต้องมีกรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันบริษัทนั้น หมายถึงบริษัททำการเอง ไม่ใช้แก่กิจการที่ผู้แทนบริษัททำแทนบริษัท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีอายุการทำงานอัตราค่าจ้างตามเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยประกอบกิจการถลุงแร่แมงกานิส จำเลยปิดกิจการชั่วคราว ๒ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๕ โดยจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเพียงบางส่วน เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๕ โจทก์และลูกจ้างอื่นรวม ๔๔ คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยรวม ๓ ข้อ หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้วโจทก์และจำเลยไม่มีการเจรจากัน ลูกจ้างจึงแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สำนักแรงงานจังหวัดราชบุรี พนักงานประนอมข้อพิพาทได้ทำการไกล่เกลี่ย โดยจำเลยที่ ๒ ได้มอบอำนาจให้นางสาวสุดารัตน์ วิรัตน์โยสินทร์ และนางสาวทิภาพร รอดทองเป็นผู้แทนในการเจรจา ในที่สุดโจทก์และผู้แทนของจำเลยที่ ๒ สามารถตกลงกันได้และได้ทำข้อตกลงปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง ตามข้อตกลงดังกล่าวหากลูกจ้างผู้ใดไม่ประสงค์จะทำงานต่อไป จำเลยยินดีให้ออกจากงานโดยจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงานและตามอัตราในกฎหมายแรงงาน ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ลาออกจากงาน จำเลยที่ ๒ไม่ยอมรับข้อตกลงและไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้โจทก์ ขอให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงโดยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ๕๖๒,๑๓๖.๔๐ บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ใบมอบอำนาจที่มอบให้นางสาวทิภาพร รอดทองและนางสาวสุดารัตน์ วิรัตน์โยสินทร์ กระทำการแทนนั้น เป็นการมอบอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้ติดอากรแสตมป์และไม่มีตราประทับของบริษัทจำเลยที่ ๑ และนางสาวทิภาพรกับนางสาวสุดารัตน์ ได้กระทำการนอกเหนือที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยในการเจรจาตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๕ การที่โจทก์นำข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันจำเลยมาบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมิได้ยินยอมและมีส่วนรู้เห็น จึงเป็นการไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า ในการเจรจาตามข้อเรียกร้องของโจทก์ จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวทิภาพร รอดทองและนางสาวสุดารัตน์ วิรัตน์โยสินทร์ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยเข้าเจรจากับฝ่ายลูกจ้างตามหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ช่วยแรงงานจังหวัดส่งศาล หลังจากเจรจาแล้วทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่แต่งตั้งให้นางสาวทิภาพร และนางสาวสุดารัตน์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าเจรจาทำความตกลงกับโจทก์เป็นการแจ้งชื่อผู้แทนให้เป็นผู้เข้าร่วมเจรจากับโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ ผู้แทนของจำเลยมีอำนาจทำข้อตกลงแทนจำเลยได้ และข้อตกลงที่ผู้แทนของจำเลยทำกับโจทก์เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของลูกจ้างลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๕ มิใช่กระทำนอกเหนืออำนาจ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย พิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ ให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทุกคนเป็นจำนวน ๕๖๒,๑๓๖.๔๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานตามบันทึกข้อตกลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ นั้น เนื่องมาจากโจทก์และลูกจ้างคนอื่น ๆ ของจำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า “เมื่อได้รับข้อเรียกร้องแล้วให้ฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนเป็นหนังสือให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องทราบ ฯลฯ” แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายรับข้อเรียกร้องมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทราบ ฉะนั้นการที่จำเลยได้มีหนังสือมอบหมายให้นางสาวทิภาพร และนางสาวสุดารัตน์เป็นผู้แทนในการเจรจาตกลงมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายณรงค์วิรัตน์โยสินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซำฮงอุตสาหกรรม จำกัด ขอมอบอำนาจให้นางสาวทิภาพร รอดทอง นางสาวสุดารัตน์ วิรัตน์โยสินทร์ มาเป็นผู้กระทำการแทนข้าพเจ้า ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี ในการเจรจาและทำความตกลงกับตัวแทนลูกจ้างเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของลูกจ้าง ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๕ ซึ่งยื่นต่อข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๕” จึงเท่ากับจำเลยได้แจ้งชื่อผู้แทนให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องทราบตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ การแจ้งชื่อผู้แทนของฝ่ายรับข้อเรียกร้องดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องทำในรูปแบบใด จึงไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร การที่จำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งชื่อผู้แทนให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทราบนั้น จำเลยที่ ๒ ได้กระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการหรือเป็นตัวแทนบริษัทจำเลยที่ ๑ ตามหน้าที่ เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๑ จึงผูกพันจำเลยที่ ๑ ส่วนข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ ๑ ที่ว่าต้องมีกรรมการคือจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจึงจะผูกพันบริษัทนั้น หมายถึงบริษัททำการเองไม่ใช้แก่กิจการที่ผู้แทนบริษัททำการแทนบริษัทเช่นกรณีนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าผู้แทนจำเลยทำข้อตกลงนอกเหนืออำนาจ เพราะบันทึกข้อตกลงกรณีที่ ๒ ที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ลาออกนั้น ไม่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในข้อเรียกร้องของลูกจ้าง เห็นว่าตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างลงวันที่ ๒๒มกราคม ๒๕๒๕ ข้อ ๑ เรื่องการจ่ายค่าจ้างระหว่างจำเลยที่ ๑ ปิดกิจการชั่วคราวนั้นตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างขอให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าจ้างให้หนึ่งในสามของค่าจ้างปกติ ข้อนี้ในการประนอมข้อพิพาทแรงงานทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาตกลงแยกออกเป็น ๒ กรณีคือ กรณีที่ ๑ ลูกจ้างที่ประสงค์จะทำงานต่อไปบริษัทจำเลยที่ ๑ จะจ่ายค่าจ้างให้หนึ่งในสี่ของค่าจ้างปกติคือต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่ฝ่ายลูกจ้างเรียกร้องกรณีที่ ๒ ถ้าลูกจ้างคนใดไม่ประสงค์จะทำงานอยู่ต่อไปบริษัทจำเลยที่ ๑ ตกลงจ่ายค่าชดเชยให้ตามอัตราค่าชดเชยในประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เห็นได้ว่าข้อตกลงทั้งสองกรณีสืบเนื่องมาจากข้อเรียกร้องข้อ ๑ ของลูกจ้างดังกล่าวโดยวิธีประนีประนอม คือทั้งสองฝ่ายยอมผ่อนผันให้แก่กัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะระงับข้อพิพาทแรงงานอันเกิดจากข้อเรียกร้องของลูกจ้างดังกล่าว จำเลยจะอ้างว่าผู้แทนจำเลยทำข้อตกลงนอกเหนืออำนาจเพราะไม่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของลูกจ้างหาได้ไม่
พิพากษายืน