คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนจะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่จำต้อง ขอให้ศาลขยายกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “กลุ่มสี่ประดิษฐ์”ในประเทศไทยต่อจำเลยที่ 1 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยแจ้งคำวินิจฉัยให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพร้อมกับคำฟ้องคดีนี้ลงวันที่ 12 กันยายน 2544 ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า “กลุ่มสี่ประดิษฐ์” ของโจทก์ โดยคำร้องของโจทก์มีใจความว่าคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะต้องเสนอต่อศาลภายในวันที่ 12 กันยายน 2544 ซึ่งในวันดังกล่าวทนายโจทก์เพิ่งได้รับอนุมัติจากโจทก์ซึ่งอยู่ต่างประเทศให้ฟ้องคดีนี้เมื่อเวลา 14 นาฬิกาเศษ ทนายโจทก์ได้จัดเตรียมคำฟ้องเพื่อยื่นต่อศาลเสร็จเรียบร้อยในเวลา 15 นาฬิกาเศษ และได้เดินทางมาเพื่อยื่นคำฟ้องแต่เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัดเพราะใกล้เวลาเลิกงานเสมียนทนายโจทก์เดินทางไปถึงศาลเมื่อเวลา 16.32 นาฬิกา และได้พบกับเจ้าหน้าที่รับฟ้องของศาลเมื่อเวลาประมาณ 16.40 นาฬิกา เจ้าหน้าที่รับฟ้องปฏิเสธไม่ยอมรับคำฟ้องของโจทก์โดยอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว โจทก์ไปถึงศาลเกินเวลาราชการไปเพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ศาลไม่ควรใช้ดุลพินิจในทางที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ โดยถือว่าโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2544 หรือมิฉะนั้น ขอให้ถือคำร้องฉบับนี้เป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องในวันนี้ได้

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวน จึงให้งดการไต่สวน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2544 เมื่อพ้นเวลาทำการของทางราชการแล้ว การยื่นคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้ยื่นในวันที่ 12 กันยายน 2544 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาได้ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งขยายกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีเพื่อขอให้โจทก์ฟ้องคดีได้ภายในวันที่ 12 กันยายน 2544 โดยอ้างเหตุสุดวิสัยนั้น ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ จึงให้ยกคำร้องของโจทก์และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ เนื่องจากยื่นเมื่อหมดเวลาทำการของทางราชการแล้ว

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”แม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนจะเป็นที่สุดตามบทบัญญัติมาตรา 18วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แต่โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 13 กันยายน2544 หรือวันใดวันหนึ่งหลังวันที่ 12 กันยายน 2544 โดยไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลขยายกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องแต่อย่างใดคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 12 กันยายน2544 แต่โจทก์นำมายื่นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 13 กันยายน 2544 พร้อมกับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งเป็น 2 กรณีกรณีที่ 1 ขอให้สั่งรับคำฟ้องของโจทก์ในวันที่ 12 กันยายน 2544 เพราะโจทก์ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวแต่ไปถึงศาลเมื่อเวลา 16.32 นาฬิกา เจ้าหน้าที่รับฟ้องไม่รับอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว กรณีที่ 2 หากศาลเห็นว่าไม่สมควรรับคำฟ้องของโจทก์ในวันที่ 12 กันยายน 2544 ก็ขอให้ถือว่าคำร้องนี้เป็นคำร้องขอขยายกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย โดยขอให้ศาลขยายกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นฟ้องในวันนี้ได้ ซึ่งวันนี้หมายถึงวันที่ 13 กันยายน 2544 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นคำฟ้องในวันที่ 12 กันยายน 2544 เมื่อพ้นเวลาราชการ จึงไม่อาจมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยอ้างว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ยื่นต่อศาลภายในวันที่ 12 กันยายน 2544 เนื่องจากยื่นเมื่อหมดเวลาทำการของทางราชการแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อคำฟ้องของโจทก์คดีนี้อาจยื่นในวันที่ 13 กันยายน 2544 หรือวันถัดไปวันใดวันหนึ่งก็ได้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ทั้งโจทก์ก็ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ในวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลด้วยคือวันที่ 13 กันยายน2544 แม้คำฟ้องของโจทก์จะลงวันที่ 12 กันยายน 2544 ก็ต้องถือว่าโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลในวันที่ 13 กันยายน 2544 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงชอบที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544 จึงไม่ชอบ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา แล้วให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ใหม่

Share