แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้โจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขับไล่ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทรายเดียวกันนี้โดยอ้างเหตุว่า โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านพิพาท จำเลยทั้งสองบอกกล่าวให้ออกไปแล้ว โจทก์ไม่ยอมออก โจทก์ให้การต่อสู้คดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับข้ออ้างตามคำบรรยายฟ้องของตนในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 3ในคดีนี้ซื้อเฉพาะที่ดินพิพาทจากโจทก์ แต่โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทไปด้วย เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์บ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฟ้องขับไล่โจทก์ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท คดีทั้งสองมีประเด็นเดียวกันว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19875มีบ้านเลขที่ 57/1 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทของโจทก์ปลูกอยู่ 1 หลังราคา 100,000 บาท ต่อมาปี 2521 จำเลยที่ 3 ซื้อเฉพาะที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ แต่ได้ขอร้องให้โจทก์ยอมทำนิติกรรมอำพรางโดยระบุว่าโอนบ้านดังกล่าวด้วย เพราะจำเลยที่ 3 จะนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจำนองแก่ธนาคารให้ได้วงเงินสูงขึ้น โดยตกลงให้โจทก์และบริวารอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนำเอาที่ดินดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับซื้อฝากที่ดินดังกล่าวไว้โดยที่รู้อยู่แล้วว่า บ้านพิพาท เป็นของโจทก์ ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525 โจทก์ได้รับ หนังสือทวงถามจากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งให้โจทก์ย้ายออกจาก ที่ดินและบ้านพิพาท โดยอ้างว่าบ้านเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ให้โจทก์และบริวารมีสิทธิอยู่อาศัยต่อไป หรือให้จำเลยทุกคนหรือคนใดคนหนึ่งชำระเงินแทนบ้านพิพาท 100,000 บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์ออกจากบ้านพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระ ภายใน 15 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ก็ให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและขายฝากที่ทำขึ้น ระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 และระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนที่กล่าวถึง สิ่งปลูกสร้างในที่ดินว่าตกลงขายไปด้วยกับข้อความที่ว่า สิ่งปลูกสร้างไม่มีและกับที่ว่าสิ่งปลูกสร้างมีอู่ซ่อมรถ ซึ่งสร้างมาภายหลังและขายไปด้วยดังกล่าวที่ปรากฏในเอกสารทั้ง 3 รายการนั้นเสีย และกำหนดข้อความใหม่ว่าสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ ไม่ขาย และไม่ขายฝากรวมด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเพราะศาลชั้นต้นได้พิพากษาในประเด็นนี้มาแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 646/2527 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทมาแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 875/2527ซึ่งศาลพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ว่าโรงเรือนพิพาทเป็นของโจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 19875 ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านพิพาทเลขที่ 57/1 หมู่ที่ 3 ที่ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินต่อให้จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5ไม่ไถ่ที่ดินแปลงดังกล่าวภายในกำหนดจึงหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2
ปัญหาว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยไว้แล้วโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2531ว่าคดีฟังไม่ได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาก็ตามแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งแนบมาท้ายฎีกา โดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้โจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1และที่ 2 ฟ้องขอให้ขับไล่ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทรายเดียวกันนี้ โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องคดีนั้นว่า โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านพิพาท ซึ่งเป็นอู่ซ่อมรถยนต์จำเลยทั้งสองบอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว โจทก์ไม่ยอมออก โจทก์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับข้ออ้างตามคำบรรยายฟ้องของตนในคดีนี้ว่านางพิมพร แก้วพาคำ จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซื้อเฉพาะที่ดินพิพาทจากโจทก์แต่โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทไปด้วย เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ บ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขับไล่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และพิพากษา ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทปรากฏตามคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ 646/2527 คดีหมายเลขแดงที่ 875/2527 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีนี้หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีแล้ว ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2531 วินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน มีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็น เดียวกันว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์