คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 44 มิได้บัญญัติบังคับไว้เด็ดขาดให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นในทุกกรณี จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะพิจารณาว่าเรื่องประเภทใดที่สมควรจะเชิญหรือไม่ ส่วนมาตรา 41 (4) เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรืออาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ย่อมได้
เมื่อขณะเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่นายจ้างและผู้บังคับบัญชา และร้องเรียนนายจ้างต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ รวมแล้วหลายสิบเรื่อง อันเป็นการก้าวก่ายการใช้สิทธิปกติในทางการบริหารของนายจ้าง จากพฤติการณ์ของโจทก์จะเห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นนายจ้างมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าหากให้โจทก์ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 12 อีกต่อไปรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น จึงมิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณี มิได้คำนึงแต่การคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังคำนึงถึงการคุ้มครองฝ่ายนายจ้างเพื่อให้ประกอบกิจการไปโดยราบรื่น อันจะเป็นผลดีแก่ลูกจ้างโดยรวมอีกด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 37 ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างที่คอยถ่วงดุลในการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นอกจากเพื่อปกป้องมิให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบแล้วยังให้การพิจารณาของคณะกรรมการเป็นไปโดยเหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมแก่ลูกจ้างด้วย คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ให้จำเลยที่ 12 จ่ายเฉพาะค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 73/2548 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ในส่วนที่วินิจฉัยและมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน และให้บังคับจำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิม โดยได้รับการปรับอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนโจทก์ได้ทำงานมาโดยตลอด และให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 44 เข้าร่วมเป็นคนกลางในการฟื้นฟูปัญหาแรงงานสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 12 กับโจทก์และสหภาพแรงงาน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และจำเลยที่ 12 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 12 มีหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2548 เลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 12 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า จำเลยที่ 12 ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (2) ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 มีคำสั่งที่ 73/2548 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ว่าจำเลยที่ 12 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์เป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในสหภาพแรงงานจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (2) แต่ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์และจำเลยที่ 12 มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ซึ่งมิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ถือได้ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานที่มีผลกระทบโดยตรงต่อทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 12 และลูกจ้างอื่นในองค์กร โดยทั้งสองฝ่ายมิได้ผ่อนปรนเข้าหากันแต่อย่างใด ทั้งที่มีหน่วยงานกลางของรัฐมาช่วยแก้ไขปัญหาก็ยังไม่สามารถที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งได้ การที่จะให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมต่อไปตามที่โจทก์ขอนั้น ก็ย่อมจะเป็นมูลเหตุให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ และอาจทวีความรุนแรงขยายวงกว้างออกไปหาสิ้นสุดไม่ จึงให้จำเลยที่ 12 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 112,135 บาท และศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงต่อไปอีกว่า โจทก์ได้ฟ้องหรือร้องเรียนจำเลยที่ 12 ต่อหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ หลายสิบเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิการบริหารจัดการและดำเนินคดีอาญาแก่ผู้บังคับบัญชาที่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและได้ปิดประกาศเลิกจ้าง ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 มีเหตุผลรองรับในการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 12 จ่ายค่าเสียหายแทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานและการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยหรือชี้ขาด เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 การออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 73/2548 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะมีคำสั่งนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 44 บัญญัติว่า “กรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติบังคับไว้เด็ดขาดให้ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในทุกกรณี จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะพิจารณาว่าเรื่องประเภทใดที่สมควรจะเชิญหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 มิได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจไปตามอำนาจหน้าที่และกรอบของกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 12 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จะต้องมีคำสั่งให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีกด้วย จะมีคำสั่งแต่เพียงให้จำเลยที่ 12 จ่ายค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ การออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จึงขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) นั้น เห็นว่า มาตรา 41 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่า “วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา 125 และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร” อันเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้จำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นนายจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือจะสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรืออาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ย่อมได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า ขณะเป็นลูกจ้างโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 12 และผู้บังคับบัญชากรณีที่ได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ดี กรณีปิดประกาศการเลิกจ้างก็ดี อันเป็นการก้าวก่ายการใช้สิทธิปกติในทางการบริหารของนายจ้าง นอกจากนี้โจทก์ยังได้ร้องเรียนจำเลยที่ 12 ต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ รวมแล้วหลายสิบเรื่อง จากพฤติการณ์ของโจทก์เห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 12 มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 พิจารณาแล้วเห็นว่า หากให้โจทก์ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 12 อีกต่อไป รังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น จึงมิได้สั่งให้จำเลยที่ 12 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่สั่งให้จ่ายเฉพาะค่าเสียหายเท่านั้น การใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 เช่นนี้ นอกจากปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ยังได้ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณี มิได้คำนึงแต่การคุ้มครองสิทธิหรือประโยชน์ของลูกจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังคำนึงถึงการคุ้มครองฝ่ายนายจ้างเพื่อให้ประกอบกิจการไปโดยราบรื่นอันจะเป็นผลดีต่อลูกจ้างโดยรวมอีกด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กระทำการอันมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้วก็จะเห็นได้ว่ามีประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบสี่คน ซึ่งในจำนวนนั้นอย่างน้อยต้องมีกรรมการซึ่งเป็นฝ่ายนายจ้างสามคนและฝ่ายลูกจ้างสามคน จึงมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างที่คอยถ่วงดุลในการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นอกจากเพื่อปกป้องมิให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างถูกเอาเปรียบแล้ว ยังให้การพิจารณาของคณะกรรมการเป็นไปโดยเหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมแก่ลูกจ้างอยู่แล้วด้วย คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 73/2548 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ตามฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share