แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ครอบครอง” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด ทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน เมื่อได้ความจากการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมาควบคุมการขนไม้หวงห้ามของกลางให้แม่เลี้ยง ต. อันเป็นการกระทำผิดร่วมกันจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกครอบครองไม้ของกลางแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1167/2547 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับและเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3 แต่คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1167/2547 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1), 73 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1), 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทตามมาตรา 74 จัตวา) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไม้สักและไม้กระยาเลย (ที่ถูก ตามฟ้องไม้มะค่าโมง) แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานมีไม้สักและไม้กระยาเลย (ที่ถูก ตามฟ้องไม้มะค่าโมง) ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี ของกลางศาลมีคำสั่งให้ริบในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 587/2547 แล้วจึงไม่จำต้องสั่งริบอีก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดไม้สักจำนวนหนึ่ง ไม้มะค่าโมง จำนวน 138 ท่อน และไม้มะค่าโมงแปรรูปจำนวน 42 แผ่น/เหลี่ยม และรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บฉ 2636 แพร่ เป็นของกลางโดยแจ้งข้อหาจำเลยที่ 2 ว่าร่วมกันมีไม้มะค่าโมงยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไม้มะค่าโมงแปรรูป ปริมาตรเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันมีไม้สักยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และต่อมาจับกุมนายจันทร์ได้ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับชั้นจับกุม และแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้งสองมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักและไม้มักค่าโมงยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันมีไม้สักและไม้มักค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีปัญหาว่า การควบคุมการขนไม้ถือว่าเป็นการครอบครองไม้ของกลางหรือไม่ ในข้อนี้เห็นว่า คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วยทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด ทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมาควบคุมการขนไม้หวงห้ามของกลางให้แม่เลี้ยงต๋อยอันเป็นการกระทำผิดร่วมกันจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกครอบครองไม้หวงห้ามของกลางแล้ว แม้แม่เลี้ยงต๋อยจะมาในที่เกิดเหตุแล้วปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าของไม้ของกลางก็ตาม ก็เป็นการขัดต่อเหตุผลเพราะหากแม่เลี้ยงต๋อยไม่ใช่เจ้าของไม้ของกลาง แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมาพบและเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมในที่เกิดเหตุ น่าเชื่อว่าเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนพ้นผิดเท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง
เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองไม้ของกลาง ย่อมถือว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดฐานมีไม้หวงห้ามของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าแยกกันครอบครองไม้ของกลางคนละจำนวนหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน