คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตาย คือผู้ตายต้องระบุชื่อผู้ทำร้ายในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังที่จะมีชีวิตรอดอยู่ ทั้งนี้เพราะคนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมอีกต่อไป ส่วนจะถึงแก่ความตายเมื่อใดหาเป็นข้อสำคัญไม่
คำบอกกล่าวของผู้ตายที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย แต่ไม่ได้ความว่าผู้ตายกล่าวในขณะที่รู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่จึงขาดเกณฑ์สำคัญที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตายตามกระบวนความ แม้ผู้ตายจะสิ้นใจในอีก 10 นาทีต่อมา คำบอกกล่าวของผู้ตายเช่นนี้ย่อมไม่น่าเชื่อถือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓, ๘๔, ๓๓ กับให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๓ วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิต ริบของกลางให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ….. นายแพทย์วิสันต์ เทียนรุ่งโรจน์ ได้รับผู้ตายไว้รักษาในห้องปฐมพยาบาล เจ้าหน้าที่สอบถามชื่อและที่อยู่จากผู้ตาย ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะดี ได้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่อหน้านายแพทย์วิสันต์ และนางสาววีณา แซ่ตุ่น เจ้าหน้าที่ห้องปฐมพยาบาล และได้แจ้งด้วยว่านายทองคน บ้านดงเข็มเป็นผู้ยิง ต่อมาอีก ๑๐ นาที ผู้ตายก็ตายเนื่องจากเสียเลือดมากและการหายใจล้มเหลว โดยมิได้สั่งเสียข้อความประการใดไว้…..แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าสำหรับคำเบิกความของนายแพทย์วิสัตน์และนางสาววีณา นั้น คดีไม่ได้ความว่าผู้ตายระบุชื่อจำเลยที่ ๑ ในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่ อันเป็นเกณฑ์สำคัญที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตายตามกระบวนความ ทั้งนี้ เพราะคนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้ว กล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมไว้อีกต่อไป ส่วนจะถึงแก่ความตายเมื่อใดหาเป็นข้อสำคัญไม่ แม้ผู้ตายระบุชื่อคนร้ายในขณะที่หมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ ต่อมาอีกสองหรือสามสัปดาห์จึงตาย คำบอกกล่าวนั้นก็ย่อมรับฟังได้ แต่ถ้าขาดเกณฑ์สำคัญดังกล่าวเสียแล้ว แม้จะสิ้นใจทันทีหรืออีก ๑๐ นาทีต่อมาเช่นคดีนี้ก็ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ(แล้วศาลฎีกาฟังว่าข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้)
พิพากษายืน.

Share