คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนในครั้งนี้โดยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะในส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 40,000 บาท อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่า ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเท่านั้นยังไม่ชอบเพราะการเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามมาตรา 21 วรรคสาม กรณีนี้มิใช่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นกรณีที่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอันทำให้โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดซึ่งโจทก์สามารถที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพื่อขอให้รัฐมนตรีวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนได้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงตามขั้นตอนที่มาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ก่อนใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 308,450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเพิ่มจำนวน 5,400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 9.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ตารางวาละ 40,000 บาท หรือไม่เพียงใด เห็นว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ให้กำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนโดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตามบทบัญญัติดังกล่าวการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์นั้น ต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งในคดีนี้ได้แก่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และมาตรา 24 ห้ามมิให้คิดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่สูงขึ้นเพราะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้สร้างหรือต่อเติมขึ้นใหม่ การเพาะปลูก การทำให้ที่ดินเจริญขึ้น หรือการเช่า ที่ได้ทำขึ้นภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ต้องนำมาคำนึง อุทธรณ์ของโจทก์อ้างว่าราคาก่อสร้างตัวตึกพร้อมฐานรากและค่าออกแบบไม่เกินตารางวาละ 20,000 บาท ดังนั้น ราคาค่าก่อสร้างตัวตึกซึ่งมีพื้นที่ 63,615 ตารางเมตร นั้นเป็นเงินไม่เกิน 1,272,300,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่ระบุไว้ในสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการของบริษัทนิลุบล จำกัด เอกสารหมาย จ. 44 ว่าอาคารสูง 36 ชั้น ราคา 1,167,570,000 บาท ซึ่งคิดเป็นตารางเมตรละ 18,353.69 บาท หาใช่ตารางเมตรละเกือบ 40,000 บาท ดังที่โจทก์ไม่กล่าวอ้างในฎีกาไม่ เมื่อคำนึงถึงพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่นำสืบถึงราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของโจทก์และราคาที่ดินแปลงอื่น จำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ สภาพและที่ตั้งของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนโครงการนี้เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นสาธารณูปโภค ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มให้จากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ตารางวาละ 40,000 บาท เป็นตารางวาละ 50,000 บาท คือเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 10,000 บาท นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วเหตุผลข้ออื่น ๆ ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างมาในฎีกาเพื่อขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ และที่จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้องโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงได้หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการเพื่อการเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์นี้ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกเวนคืนในครั้งนี้โดยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะในส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 40,000 บาท อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเท่านั้นยังไม่ชอบเพราะการเวนคืนทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามมาตรา 21 วรรคสาม กรณีนี้มิใช่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นกรณีที่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอันทำให้โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดซึ่งโจทก์สามารถที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนได้ แต่ตามสำเนาอุทธรณ์ค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ. 5 ที่โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงในส่วนที่ถูกเวนคืนเท่านั้น ทั้งยังกล่าวว่าโจทก์มิได้หวังที่จะเรียกร้องค่าชดเชยจากการที่ที่ดินแปลงหลังถูกเวนคืนอีกกว่า 3 ไร่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงตามขั้นตอนที่มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก่อนใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย.

Share