คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3525/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงลักษณะสภาพและขนาดของอาคาร ที่จำเลยฎีกาว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 ให้ความหมายของคำว่า ชายคาและกันสาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายคำฟ้องยืนยันว่าจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเฉพาะชายคาชั้นสองจึงเป็นคำบรรยายฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะสิ่งที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างนั้นโดยแท้จริงมีสภาพเป็นกันสาดคอนกรีตที่ยื่นออกไปกันน้ำฝนไหลย้อนผนังอาคารด้านหลัง ไม่ใช่ชายคาหรือหลังคาตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสี่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนชายคาที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและจะนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามมาตรา 1374 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเรื่องสิทธิครอบครอง แต่โจทก์ทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชายคาหรือกันสาดของจำเลยได้รุกล้ำเข้าไปคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมีที่ดินติดต่อกัน โดยโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9816 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9807 พร้อมอาคารเลขที่ 50 ซอยอินทามระ 21 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 โจทก์ทั้งสี่ทราบจากการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ว่าชายคาชั้นสองของอาคารของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ด้านทิศตะวันตกเป็นระยะ 50 เซนติเมตร ยาวจากทิศเหนือจดทิศใต้เป็นระยะประมาณ 10 เมตร โจทก์ทั้งสี่แจ้งแก่จำเลยให้รื้อชายคาดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายเป็นค่าใช้ที่ดินเป็นเงิน 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อชายคาที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ทั้งสี่จ้างผู้อื่นดำเนินการแทนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยและหากไม่มีการปฏิบัติดังกล่าวให้จำเลยใช้ค่าใช้ที่ดินเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงลักษณะสภาพและขนาดของอาคารของจำเลย คดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าทราบถึงการรุกล้ำ เมื่อปี 2511 นายสมพงษ์ มิ่งเจริญวงศ์ สามีจำเลยกับพวกอีก 2 คน ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9807 พร้อมบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง และอาคารคอนกรีตสองชั้นอีก 1 หลัง นายสมพงษ์และจำเลยได้ปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นหอพักสตรีและสร้างกันสาดบนชั้นสองทางด้านทิศตะวันออกของอาคาร เพื่อป้องกันน้ำฝนปี 2531 จำเลยได้รับโอนมรดกที่ดินและทรัพย์สินดังกล่าวส่วนของนายสมพงษ์และรับโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของเจ้าของรวมคนอื่น ๆ จำเลยจึงเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว จำเลยได้ครอบครองที่ดินและอาคารดังกล่าวอย่างสงบเปิดเผยตลอดมาเป็นเวลา 30 ปี ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่จึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่มีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 10 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย

โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ชายคาชั้นสองของอาคารของจำเลยที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เพิ่งก่อสร้างมาไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้สิทธิภารจำยอม ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนชายคาของอาคารเลขที่ 50 ซอยอินทามระ 20(ที่ถูกซอยอินทามระ 21) ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสี่รวม 1,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 ให้ความหมายของคำว่า ชายคาและกันสาดแตกต่างกันอย่างชัดเจนการที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายคำฟ้องยืนยันว่าจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเฉพาะชายคาชั้นสองจึงเป็นคำบรรยายฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะสิ่งที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างนั้นโดยแท้จริงมีสภาพเป็นกันสาดคอนกรีตที่ยื่นออกไปกันน้ำฝนไหลย้อนผนังอาคารด้านหลัง ไม่ใช่ชายคาหรือหลังคาตามฟ้องแต่อย่างใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งเห็นว่า จำเลยให้การประเด็นนี้เพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงลักษณะสภาพและขนาดของอาคาร ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้มาจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามมีว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนชายคาที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และจะนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 มาใช้บังคับดังที่จำเลยให้การไม่ได้ เพราะตามมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเรื่องสิทธิครอบครอง แต่โจทก์ทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชายคาหรือกันสาดของจำเลยได้รุกล้ำเข้าไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าขึ้นศาลของจำนวนทุนทรัพย์ค่าเสียหายในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสี่

Share