แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229,360พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117,118,119,120 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(1) และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(1)เอกชนจะฟ้องได้ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์เป็นเทศบาลเมืองมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50(2),53 และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ให้โจทก์ดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90,91, 229, 360, 362, 365 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยทั้งสาม
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเทศบาลเมือง และเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.19 ให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาลอธิบดีกรมในฐานะเจ้าท่ามอบอำนาจ “เจ้าท่า” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ให้โจทก์ดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาล และบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในเขตเทศบาลของโจทก์และวินิจฉัยว่าสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะความผิดดังกล่าวหรือไม่อีกต่อไป ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456มาตรา 117, 118, 119, 120 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวินั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่าเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(1) และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(1)เอกชนจะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์เป็นเทศบาลเมือง ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50(2), 53 และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ให้โจทก์ดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดดังกล่าวเหล่านั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2