แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์ชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นไว้เพียงว่า จำเลยได้เอารถแทรกเตอร์ตีใช้หนี้ตามฟ้อง หนี้ระงับแล้วหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องมีการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องหักกลบลบหนี้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องหักกลบลบหนี้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ตามหนังสือสัญญากู้ยืมและค้ำประกันฉบับ 700,000 บาทและ 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้โจทก์โดยได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์ให้โจทก์ โจทก์ได้รับไปเรียบร้อยแล้วเป็นการหักกลบลบหนี้หนี้ตามหนังสือสัญญาและค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,434,753.63บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน585,892.91 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.20 และ จ.1 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อรถแทรกเตอร์จากต่างประเทศ โดยตกลงให้โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ ค่าประกันวินาศภัย ค่าภาษีศุลกากร และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2521 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจำนวน 700,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 และวันที่ 28 สิงหาคม 2521 ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจำนวน1,500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4, จ.5 และ จ.12, จ.13 ตามลำดับ และในวันที่ 28 สิงหาคม2521 โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายรถแทรกเตอร์จำนวน 20 คันราคา 2,200,000 บาท เท่าจำนวนเงินกู้ทั้งสองฉบับ ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.21 และจำเลยที่ 1 ได้จัดการจดทะเบียนโอนรถแทรกเตอร์20 คัน แก่โจทก์ ต่อมาประมาณกลางปี 2523 โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถแทรกเตอร์จำนวน 20 คันให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบ โจทก์จึงยึดรถแทรกเตอร์ 7 คัน ไปจากจำเลยที่ 1 และได้แจ้งความร้องทุกข์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักยอกรถแทรกเตอร์ 13 คันของโจทก์ พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวน ต่อมาพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องปรากฏตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย ล.2 ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงหักกลบลบหนี้กันแล้ว โดยจำเลยที่ 1 เอารถแทรกเตอร์ชำระหนี้แทนเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 นำรถมาหักกลบลบหนี้หรือตีใช้หนี้โจทก์แต่ประการใดนั้น เห็นว่าศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้โดยมีการแปลงหนี้จากหนี้เงินทดรองจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ออกแทนให้จำเลยที่ 1 ไป และสัญญาซื้อขายรถแทรกเตอร์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คู่สัญญาก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้ผูกพันกันตามสัญญา ซึ่งฝ่ายจำเลยมิได้ฎีกาหรือแก้ฎีกาแต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าวสำหรับปัญหาเรื่องการหักกลบลบหนี้นั้น จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้เฉพาะเรื่องได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์ให้โจทก์ 8 คัน ชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นไว้เพียงว่า จำเลยได้เอารถแทรกเตอร์ตีใช้หนี้ตามฟ้อง หนี้ระงับแล้วหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องมีการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องการหักกลบลบหนี้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 นอกจากนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งที่จะขอหักกลบลบหนี้กับหนี้อะไรจากโจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องการหักกลบลบหนี้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,200,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 700,000 บาทและ 1,500,000 บาท นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2521 และ 28 สิงหาคม2521 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยอย่างวิธีธรรมดา (ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้ไม่เกิน 1,234,753.63 บาท)