แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีทุนทรัพย์ 42,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดย วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความ แต่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคงต้องรับผิดเฉพาะจำเลยที่ 3 จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 40,000 บาทแก่โจทก์ การแก้ไขเช่นนี้เป็นการแก้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ให้รับผลตรงข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขมากจำเลยที่ 3 ฎีกาข้อเท็จจริงได้
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันที่หายไว้และได้ใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกผู้ก่อวินาศภัยด้วยอำนาจกฎหมาย โดยโจทก์และบุคคลภายนอกนั้นไม่จำต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
ผู้เอาประกันภัยได้เช่าซื้อรถยนต์มาจากผู้รับประโยชน์แล้วให้จำเลยที่ 2 เช่าไป จำเลยที่ 2 นำรถยนต์นั้นไปฝากไว้แก่จำเลยที่ 3 แล้วหายไปเพราะจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ เพราะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รถยนต์ที่ให้เช่าคืน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ได้
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 นั้นจำเลยที่ 3 ก็อยู่ที่ปั๊มน้ำมันและได้รับเงิน 5 บาทที่จำเลยที่ 2 มอบให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 3 ไว้แล้วรถที่นำมาจอดรายวันและจะจอดตรงไหนก็ได้ในลานจอดรถ จำเลยที่ 3 ประจำอยู่ที่ปั๊มน้ำมันตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นเวลากลางคืนแสดงว่าจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของปั๊มคอยดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินภายในบริเวณปั๊มทั้งหมดรวมถึงรถยนต์ที่จอดด้วยพฤติการณ์ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ปฏิบัติต่อลูกค้าดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับรถยนต์จากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 ที่ปั๊มน้ำมันแล้วเข้าลักษณะฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657หาใช่เป็นการให้เช่าที่จอดรถยนต์ไม่ แม้ผู้นำรถยนต์มาจอดไม่ต้องมอบกุญแจรถให้ไว้ก็ดีจะนำรถคืนไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกจำเลยที่ 3 ก่อนก็ดีที่บริเวณกำแพงข้างปั๊มน้ำมันมีข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3เขียนไว้ก็ดีก็ไม่ทำให้รถยนต์ที่นำมาจอดไม่อยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3
เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป ผู้รับฝากก็ต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์การฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ตามมาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1บ-7763ไว้จากนายพูน โดยมีบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลทรัสท์แอนด์ไฟแนนซ์ จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 2 เช่ารถยนต์คันนี้จากนายพูน จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันนี้ไปฝากจำเลยที่ 1 หนึ่งคืน จำเลยที่ 1 รับฝากไว้โดยมีค่าตอบแทนครั้นรุ่งเช้ารถยนต์ได้หายไป โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ที่ 2
หลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้นายชาย ศรีสงวนสกุลเช่ากิจการปั๊มน้ำมันและสถานที่จอดรถไปก่อนเกิดเหตุแล้ว โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนายชายเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต และให้เรียกนายชายว่าจำเลยที่ 3 ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายการรับช่วงสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยร่วมมิได้รับฝากรถยนต์เพียงแต่ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาท 42,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะสงวนรถยนต์ที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จึงพิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ใช้เงิน40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การแก้ไขเช่นนี้เป็นการแก้ความรับผิดของจำเลยที่ 3ให้รับผลตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันที่หายไว้และโจทก์ได้ใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่บริษัทผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกผู้ก่อวินาศภัยด้วยอำนาจกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ด้วยอำนาจกฎหมายโดยไม่จำต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ที่โจทก์รับช่วงสิทธิไม่ได้ทำสัญญาฝากทรัพย์กับจำเลยที่ 3 บุคคลเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรจากจำเลยที่ 3นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลทรัสท์แอนด์ไฟแนนซ์จำกัด ผู้รับประโยชน์ได้ให้นายพูนผู้เอาประกันภัยเช่าซื้อรถยนต์ แล้วนายพูนได้ให้จำเลยที่ 2เช่ารถยนต์คันนี้ไปและจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์นั้นไปฝากจำเลยที่ 3 ไว้ ดังนั้น ถ้าหากรถยนต์คันดังกล่าวหายไปเพราะจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ เพราะการผิดสัญญาของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รถยนต์ที่ให้เช่าคืนจากจำเลยที่ 2 เมื่อสัญญาเช่ารถระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 และมาตรา 567 และผู้รับประโยชน์ก็ได้รับความเสียหายเนื่องจากสูญเสียกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไปผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์รับช่วงได้
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์ ไม่ได้รับฝากรถจากจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความว่าเมื่อคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินให้พนักงานของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน5 บาท รุ่งเช้าปรากฏว่ารถยนต์หายไป จำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่ามีผู้นำรถยนต์คันที่หายมาจอดที่ลานจอดรถในบริเวณปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 มอบเงินให้นายสมหวัง 5 บาทจำเลยที่ 3 ได้รับเงินจำนวนนี้จากนายสมหวังแล้ว รถคันนี้มาจอดเป็นรายวัน รถถ้าจอดไม่เรียบร้อยก็จะเข็นให้พ้นทางเอาเองรถที่นำมาจอดเป็นรายวันให้จอดกลางแจ้งและที่ลานจอดรถนี้จะนำไปจอดตรงไหนก็ได้ ตั้งแต่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและประจำอยู่ที่ปั๊มน้ำมันตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นเวลากลางคืนแสดงว่าจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของปั๊มคอยดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินภายในบริเวณปั๊มทั้งหมด รวมถึงรถยนต์ที่จอดด้วย พฤติการณ์ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ปฏิบัติต่อลูกค้าดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับรถยนต์จากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 ที่ปั๊มเพราะจำเลยที่ 3 ประจำอยู่ที่ปั๊มตลอดคืน แสดงว่าทำการเฝ้ารถยนต์ที่มาจอดและรถอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 แล้ว เข้าลักษณะรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่จอดรถ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าผู้จอดรถไม่ต้องมอบกุญแจรถให้ไว้ก็ดี จะนำรถคืนไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกจำเลยที่ 3 ก่อนก็ดี บริเวณกำแพงข้างปั๊มมีข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ก็ดี ไม่ทำให้รถยนต์ที่นำมาจอดไม่อยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่า มาตรา 665 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์ซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก ดังนั้นเมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป ผู้รับฝากจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์ การฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามมาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164
พิพากษายืน