แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาลาไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศ ข้อ 3 มีใจความว่าเมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการฝึกอบรมหรือไม่สำเร็จการฝึกอบรมก็ตามจำเลยที่ 1 จะรับราชการต่อไปที่กรมโจทก์หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุน และสัญญาข้อ 4 มีใจความว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้นั้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่า ภายหลังจากการฝึกอบรมแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการที่กรมโจทก์หรือที่กระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรก็ได้ เพียงแต่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาเท่านั้นมิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการเฉพาะที่กรมโจทก์จึงจะถือว่าเป็นการชดใช้ทุนคืนตามสัญญา เพราะการที่จำเลยที่ 1 ไปรับราชการที่กระทรวงทบวงกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะใช้ความรู้ที่ไปฝึกอบรมมาสร้างความเจริญให้แก่หน่วยงานที่ตนไปรับราชการและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับประเทศชาติเช่นเดียวกัน หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปฝึกอบรมต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์หรือหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งโจทก์สังกัดอยู่ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกพันมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งเช่นนั้น แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ และจำเลยที่ 1 ก็ยังรับราชการอยู่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดมา คิดเป็นเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการต่อจากที่กรมโจทก์เกินกว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ทุนตามระยะเวลาในสัญญา ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 22,041.26 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2526 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้จำนวน 6,081.68 บาทและจำนวนเงิน 970,200 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยจำนวน175,994.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธและขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,004.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 182,075.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2527ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,004.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2526 ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นตามฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่โต้แย้งกันแล้วในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเดิมจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ที่กรมโจทก์ และได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อภายในประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2518 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1ยังศึกษาไม่สำเร็จ จึงขอลาต่ออีก 2 ครั้ง จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน2521 รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในการศึกษาต่อจนสำเร็จเป็นเวลา3 ปี 7 วัน เมื่อจบการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6จำเลยที่ 1 จะต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ไปศึกษาต่อ ถ้าผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินเดือนทั้งหมดที่ได้รับไประหว่างศึกษาต่อพร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือหากกลับเข้าปฏิบัติราชการไม่ครบกำหนด จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินที่ได้รับไปโดยลดลงตามส่วนกับเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่ต้องชดใช้ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 6 ปี 14 วัน ภายหลังศึกษาสำเร็จแล้วจำเลยที่ 1 กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการจนถึงวันที่24 กันยายน 2523 รวมเวลา 2 ปี 3 เดือน 17 วันหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รับทุนภายใต้แผนโคลัมโบผ่านกรมวิเทศสหการให้ไปฝึกอบรมวิชาการทำเซอรามิคที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 11 เดือนนับแต่วันที่ 25 กันยายน 2523 และโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาไปฝึกอบรมได้ แต่จำเลยที่ 1 ใช้เวลาไปฝึกอบรมเพียง 25 วัน ก็เดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ประสงค์ไปฝึกอบรมอีก จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการใช้ทุนต่อกับโจทก์อีกตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2523 จนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2525 จึงโอนไปรับราชการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการใช้ทุน 2 ช่วง แก่โจทก์เป็นเวลาเพียง 4 ปี4 เดือน 13 วัน ในการอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นดังกล่าวข้างต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนไป หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.1โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2ก่อนโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2525 ยอมชำระเงินให้โจทก์ 38,354.17 บาทโดยชำระเงินแล้วในวันทำสัญญาจำนวน 20,000 บาทส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระให้โจทก์เสร็จภายใน 6 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.9โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ คดีส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาศึกษาต่อภายในประเทศนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาลาไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามสัญญาลาไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 มีใจความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการฝึกอบรมหรือไม่สำเร็จการฝึกอบรมก็ตาม จำเลยที่ 1 จะรับราชการต่อไปที่กรมโจทก์หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนและสัญญาข้อ 4มีใจความว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้นั้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าภายหลังจากการฝึกอบรมแล้ว จำเลยที่ 1จะต้องกลับมารับราชการที่กรมโจทก์หรือที่กระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรก็ได้เพียงแต่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาเท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการเฉพาะที่กรมโจทก์จึงจะถือว่าเป็นการชดใช้ทุนคืนตามสัญญา เพราะการที่จำเลยที่ 1 ไปรับราชการที่กระทรวงทบวงกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะใช้ความรู้ที่ไปฝึกอบรมมาสร้างความเจริญให้แก่หน่วยงานที่ตนไปรับราชการ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับประเทศชาติเช่นเดียวกัน หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปฝึกอบรมต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์หรือหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งโจทก์สังกัดอยู่โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งเช่นนั้น แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าคำสั่งอนุมัตินั้นได้ทำไปเพราะจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอโอนไปก่อนหรือไม่ก็ตาม ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยังรับราชการอยู่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดมา จนถึงขณะเบิกความคดีนี้ (วันที่ 22สิงหาคม 2531) โดยไม่เคยลาออกจากการเป็นข้าราชการเลย คิดเป็นเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการต่อจากที่กรมโจทก์จำนวน 5 ปีเศษจึงเกินกว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ทุนตามระยะเวลาในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จ.5 และ จ.6 แล้ว เช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 และที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน