คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507-3509/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีความว่า ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ลูกจ้างจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดพักผ่อน เว้นแต่จะใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยลากิจที่จำเป็นจริง ๆ นั้น ไม่อาจแปลได้ว่า เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของนายจ้างที่จะกำหนดเอาเองว่ากรณีใดร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพความจำเป็นของผู้ลากิจ ลาป่วยเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนี้ เมื่อจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยได้ตามความเป็นจริงที่โจทก์อ้าง เพราะโจทก์แต่ละคนปวดศีรษะอย่างแรง เป็นไข้ท้องเสียอย่างแรง และเวียนศีรษะ เห็นได้ว่าเป็นความจำเป็นจริง ๆ อันโจทก์แต่ละคนย่อมไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงดังกล่าวที่โจทก์ทุกคนจะพึงใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยของโจทก์แต่ละคนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของคุรุสภา จำเลย สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาได้ทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยมีใจความว่า เรื่องการหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น องค์การค้าของคุรุสภาจะแก้ไขระเบียบเพื่อให้เจ้าหน้าที่หยุดพักผ่อนเพิ่มขึ้น แต่สำหรับเดือนเมษายนและพฤษภาคมจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดพักผ่อน เว้นแต่จะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยลากิจที่จำเป็นจริง ๆ ในระหว่างเดือนเมษายน โจทก์ทั้งหกขอลาป่วยเนื่องจากปวดศีรษะอย่างแรง ป่วยเป็นโรคท้องร่วงอย่างแรง และขอให้สิทธิหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วย แต่จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ทุกคนใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแทนวันลาป่วย ทำให้โจทก์เสียสิทธิไม่ได้รับอุตสาหบัตรและสลากออมสิน หรืออาจเสียสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษและโบนัสปกติ หรือเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ขอให้บังคับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ทั้งหกใช้สิทธิพักผ่อนแทนวันลาป่วยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
จำเลยให้การว่า กรณีของโจทก์ทั้งหกเป็นเพียงเจ็บป่วยธรรมดาไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นจริง ๆ จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยได้อย่างธรรมดาเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างฝ่ายจัดการขององค์การค้าจำเลยกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาความว่า “เรื่องการหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น องค์การค้า ฯ จะดำเนินการแก้ไขระเบียบเพื่ออนุญาตให้เจ้าหน้าที่หยุดพักผ่อนเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมและมิถุนายน แต่สำหรับเดือนเมษายนและพฤษภาคม จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดพักผ่อน เว้นแต่จะใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วย ลากิจที่จำเป็นจริง ๆ” และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ จำเลยจึงได้แก้ไขระเบียบของจำเลย ในระหว่างเดือนเมษายน โจทก์ทั้งหกขอลาป่วยคนละ ๑ ถึง ๒ วันเนื่องจากปวดศีรษะอย่างร้ายแรง เป็นโรคท้องร่วงอย่างแรง ปวดศีรษะอย่างแรงและมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะและเวียนศีรษะอย่างแรง ขณะเดียวกันโจทก์ทั้งหกก็ขอใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยด้วย จำเลยเห็นว่ากรณีของโจทก์เป็นเพียงเจ็บป่วยธรรมดาเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแทนวันลาป่วยได้ จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งหกลาป่วยอย่างธรรมดา แต่ไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งหกยื่นใบลาป่วยต่อจำเลย จำเลยก็ได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกลาป่วยได้ แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ทั้งหกป่วยตามที่อ้างจริง การปวดศีรษะอย่างแรง เป็นไข้ท้องเสียอย่างแรง และเวียนศีรษะ ไม่ว่าผู้ป่วยจะทำงานโดยใช้กำลังกายหรือใช้สมองก็ย่อมถือได้ว่ามีอุปสรรค ไม่อาจจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ทั้งสิ้น ดังนี้ย่อมถือได้ว่า โจทก์ทั้งหกลาป่วยด้วยเหตุจำเป็นจริง ๆ ตามระเบียบองค์การค้าของจำเลยว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวไม่อาจแปลได้ว่า เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของจำเลยที่จะกำหนดเอาเองว่ากรณีใดร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพความจำเป็นของผู้ลากิจ ลาป่วย เป็นเรื่อง ๆ ไป โดยอาศัยสภาพความเป็นจริงว่า การเจ็บป่วยของผู้ลาจะถือได้ว่าผู้ลายังสามารถจะทำงานตามปกติได้หรือไม่เป็นเกณฑ์ ซึ่งตามสภาพของความเจ็บป่วยของโจทก์แต่ละคนเห็นได้ว่าเป็นความจำเป็นจริง ๆ อันโจทก์แต่ละคนย่อมไม่สามารถจะทำงานตามปกติได้ ดังนี้ กรณีของโจทก์ทั้งหกจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับของจำเลยที่โจทก์ทุกคนจะพึงใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยของโจทก์แต่ละคนได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ทั้งหกใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วย

Share