คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3505/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง สำหรับการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และคณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็นผู้ใด จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินคดีด้วยความไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในแต่ละศาลทั้งสองฝ่ายเป็นพับนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๖๔๘ เลขที่๗๗๕ ตำบลสวนหลวง (ที่ ๘ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครเนื้อที่ ๒๑๐ ตารางวา ถูกเวนคืนทั้งแปลงตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิเขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ ตารางวาละ ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้วินิจฉัยภายในกำหนด ที่ดินของโจทก์อยู่ในย่านทำเลการค้าติดกับทางหลวงพิเศษกรุงเทพฯ – ชลบุรี (สายใหม่) มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์อีก ๗๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๘ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๐,๗๑๘,๗๕๐ บาทรวม ๘๔,๒๑๘,๗๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๘๔,๒๑๘,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๗๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นตารางวาละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์รับฟังได้จากเอกสารหมาย ล.๘ว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดทางหลวงสายกรุงเทพฯ – ชลบุรี (สายใหม่) และอยู่ติดซอยกว้างประมาณ ๖ เมตร สามารถเข้าออกสู่ถนนศรีนครินทร์ได้ และโจทก์ได้นำสืบถึงราคาที่ดินในย่านถนนศรีนครินทร์ ซึ่งห่างจากที่ดินของโจทก์ไม่มากในช่วงปี ๒๕๓๓ถึง ๒๕๓๙ ซึ่งมีราคาที่ซื้อขายกันจริง ตารางวาละ ๑๒๘,๐๐๐ บาท ถึง ๔๖๐,๐๐๐ บาทตามเอกสารหมาย จ.๘ ถึง จ.๓๓ อันเป็นเวลาก่อนและหลังพระราชกฤษฎีกาฯใช้บังคับ จึงน่าจะใช้ประกอบการพิจารณาในการกำหนดราคาซื้อขายที่ดินแก่โจทก์ตามความเหมาะสมและเป็นธรรมได้ เห็นว่า ราคาที่ดินแปลงอื่นที่จะนำมาใช้พิจารณาเทียบเคียงว่า ที่ดินที่จะต้องเวนคืนควรมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเท่าใดนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่ซื้อขายกันในเวลาใกล้เคียงกันกับวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้งสภาพและที่ตั้งของที่ดินต้องใกล้เคียงกันกับที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯควรมีราคาเท่าใดจะนำเอาราคาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดในย่านเดียวกันแต่มีสภาพและที่ตั้งของที่ดินแตกต่างไปจากที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นอย่างมาก หรือราคาที่ดินที่ซื้อขายกันห่างจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นเวลานานซึ่งสภาพแวดล้อมของที่ดินแตกต่างไปจากที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ หรือราคาซื้อขายที่ดินที่สร้างขึ้นหรือราคาซื้อขายที่ดินเฉพาะรายซึ่งมีเหตุผลพิเศษในการซื้อขายมาใช้เป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นหาได้ไม่ ตามคำเบิกความของโจทก์และนายพายัพ เฉลยถ้อย พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานจำเลยที่ ๑ ผู้สำรวจที่ดินของโจทก์ ประกอบภาพถ่ายในเอกสารหมาย จ.๖ และแผนที่สังเขปแนบท้ายสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.๓ ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินว่างเปล่ายังไม่ได้พัฒนาอยู่ติดซอยดินส่วนบุคคลกว้างประมาณ ๔ ถึง ๕ เมตร อยู่ห่างจากถนนศรีนครินทร์ประมาณ๕๐ เมตร ไม่ติดแนวเขตทางหลวงสายกรุงเทพมหานคร – ชลบุรี (สายใหม่) โดยแนวเขตทางหลวงสายกรุงเทพฯ – ชลบุรี (สายใหม่) ติดที่ดินแปลงที่อยู่ติดซอยดินเดียวกับที่ดินของโจทก์แต่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ดินของโจทก์ และจนถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ทางหลวงสายนี้ยังสร้างไม่เสร็จ สภาพที่ดินของโจทก์ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต… พ.ศ. ๒๕๓๔ แตกต่างจากที่ดินที่โจทก์นำสืบว่ามีการซื้อขายกัน ตารางวาละ ๑๒๘,๐๐๐ บาท ถึง ๔๖๐,๐๐๐บาท มาก เพราะที่ดินเหล่านั้นอยู่ติดถนนใหญ่สายสำคัญ เช่น ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขุมวิท ๗๗ และที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ นายวีรศักดิ์ เถาหมอเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๖๕๐ ซึ่งอยู่ถัดจากที่ดินของโจทก์เข้าไปอีก ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับนายสำราญ แซ่จิว ในราคาตารางวาละ ๒๕๐,๐๐๐ บาทตามเอกสารหมาย จ.๘ ก็ปรากฏว่า สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวทำขึ้นภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต …พ.ศ. ๒๕๓๔ กว่า ๑ ปี ทั้งที่ดินดังกล่าวก็อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาเดียวกันกับคดีนี้และนายวีรศักดิ์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย มีเหตุที่จะทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเพื่อนำมาใช้อ้างอิงให้ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น จากสภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดถึงตารางวาละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ดังนั้นจึงนำเอาราคาที่ดินที่โจทก์นำสืบดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไม่ได้ พิเคราะห์ถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่ได้พัฒนาอยู่ติดซอยดินส่วนบุคคลกว้างประมาณ ๔ ถึง ๕ เมตร ห่างจากถนนศรีนครินทร์ ประมาณ ๕๐ เมตรเชื่อว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต … พ.ศ. ๒๕๓๔ คือ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ตารางวาละไม่เกิน ๘๐,๐๐๐บาท ที่จำเลยที่ ๓ วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยเพิ่มเงินค่าทดแทนอีกตารางวาละ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๘๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ชอบด้วยความมุ่งหมายแห่งพระราชบัญญัติว่า ด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๕)แล้ว กรณีไม่มีเหตุจะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์อีก
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ที่โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลก็เนื่องจากจำเลยที่ ๑ จ่ายค่าทดแทนโดยไม่สุจริต โดยกำหนดค่าทดแทนต่ำ ๆ เป็นเหตุให้โจทก์จำต้องฟ้องต่อศาล จำเลยที่ ๑ จึงได้จ่ายค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ หากโจทก์ไม่ฟ้องต่อศาลจำเลยก็จะไม่จ่ายเพิ่มให้แก่โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ ๑ สมควรเป็นฝ่ายชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ วรรคหนึ่งบัญญัติให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงสำหรับการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่า ด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ และคณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็นผู้ใด จำเลยที่ ๑ มิได้ดำเนินคดีด้วยความไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในแต่ละศาลทั้งสองฝ่ายเป็นพับนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share