แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของนายจ้างที่กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งจะไปสมัครสอบเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องยื่นใบลาออกก่อนนั้นเป็นคำสั่ง ที่จำกัดสิทธิในการแสวงความก้าวหน้าของลูกจ้างเกินความจำเป็น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ด้วยเหตุฝ่าฝืนคำสั่งนี้ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งครู จำเลยมีคำสั่งให้ครูที่ประสงค์จะไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการต้องยื่นใบลาออกก่อน โจทก์ไปสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู แต่ไม่ได้ยื่นใบลาออก เพราะเห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นหน้าที่ครูและไล่ออกจากงานโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้ออกมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเพื่อประโยชน์ของผู้ไปสอบบรรจุได้ที่จะไม่ต้องมายื่นใบลาออกในภายหลัง คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องของการบริหารภายในโรงเรียน มิได้ตัดสิทธิหรือลิดรอนสิทธิของครูคนใดโดยเฉพาะ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ต้องพ้นจากการเป็นครูถือว่าเป็นการลาออกตามคำสั่งนั้น หาใช่เป็นกรณีที่โรงเรียนไล่ออกไม่จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ลาออก แต่เป็นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยไม่ใช่กรณีร้ายแรงและไม่ได้ถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะโจทก์ออกจากงาน ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่า “การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน ฯลฯ” ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ ฉะนั้น การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ให้พ้นจากการเป็นครู เนื่องจากโจทก์ไปยื่นใบสมัครสอบเข้ารับราชการโดยไม่ยื่นใบลาออกก่อนเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ตามที่กล่าวข้างต้น
จำเลยออกคำสั่งให้ครูลูกจ้างของจำเลยที่จะไปสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องยื่นใบลาออกจากการเป็นครูโรงเรียนจำเลยก่อน โดยจำเลยอ้างว่าเพื่อมิให้โรงเรียนจำเลยขาดครูสอนตอนกลางปีเห็นว่า เพียงแต่ครูไปสมัครสอบเข้ารับราชการยังห่างไกลต่อผลที่โรงเรียนจำเลยต้องขาดครูตอนกลางปีมาก คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิที่จะแสวงความก้าวหน้าของลูกจ้างเกินกว่าความจำเป็นของจำเลย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไปสมัครสอบเพื่อบรรจุเข้าเป็นข้าราชการโดยมิได้ยื่นใบลาออกก่อน ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 47(3) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ไม่ต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ต่อไป
พิพากษายืน