คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ตามคำขอฝากขังของเจ้าพนักงานสอบสวนทั้งสองครั้ง โดยที่ ผู้ต้องหาที่ 1 มิได้คัดค้านประการใดนั้น เป็นคำสั่งที่ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฏตามที่ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกทำร้ายขู่เข็ญให้รับสารภาพมาก่อนหน้านั้น ก็ไม่มีผลทำให้คำสั่งอนุญาตให้ฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายต้อง กลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่ ผู้ต้องหาที่ 1 ชอบที่จะ ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำร้ายตนตามสิทธิที่มีอยู่ ส่วนคำรับสารภาพ ของผู้ต้องหาที่ 1 จะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป็นเรื่อง ที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาลไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่ง อนุญาตให้ฝากขังทั้งสองครั้ง ตามคำร้องของ ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวอ้างว่า การกระทำของพนักงานสอบสวนขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 233,237, วรรคหนึ่ง,241 วรรคหนึ่งและ วรรคสอง,243 วรรคหนึ่ง และมาตรา 245 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็น การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญแม้ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวในตอนท้ายคำร้องด้วยว่า บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ขัดแย้ง หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่าขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญบทมาตราใดและเพราะเหตุใด จึงเป็นข้อกล่าวอ้าง ที่เลื่อนลอย ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 ต้องยกคำร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 ขอฝากขังผู้ต้องหาสองไว้ในระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน ศาลชั้นต้นคำสั่งอนุญาตตามขอ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ทนายความผู้ต้องหาที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกพวกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายขู่เข็ญให้รับสารภาพ เมื่อผู้ต้องหาที่ 1 ให้การปฏิเสธตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 243 วรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนกลับไม่ยอมสอบปากคำไว้คำรับสารภาพของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 243 วรรคสอง ผู้ต้องหาที่ 1 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 วรรคหนึ่ง และขอคัดค้านการขอฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ ที่กฎหมายบัญญัติให้ฝากขังผู้ต้องหาได้เฉพาะเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ผู้ร้องของฝากขังเพื่อสืบสวนขยายผล ทั้งการสอบสวนมีพฤติการณ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 241 วรรคสองเพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้สิทธิของผู้ต้องหาที่ 1 ให้ทนายความเข้าฟังการสอบสวน อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคหนึ่ง และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคหนึ่ง และรัฐธรรมนูญ มาตรา 241 วรรคหนึ่ง ที่ให้มีการสอบสวนโดยรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม บทบัญญัติที่ศาลอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ศาลต้องรอการพิจารณาการขอฝากขังนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อส่งความเห็นโต้แย้งดังกล่าวทั้งหมดของผู้ต้องหาที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและขอให้ศาลชั้นต้นปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ 1
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 2 และมีคำสั่งว่าการที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ยังไม่เป็นการดำเนินการในชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(2) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงยังไม่เป็นการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีอันจะทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 มีสิทธิโต้แย้งได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ต้องหาที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ต้องหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีได้ความตามสำนวนว่าผู้ต้องหาที่ 1 ถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดต่อเสรีภาพและความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ในชั้นขอฝากขังครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังได้ 12 วัน ตามขอ หลังจากนั้นมีการอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ตามคำขอของผู้ร้องอีกรวมเป็น 7 ครั้ง ผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2541 แต่ผู้ประกันขอส่งตัวคืนเองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2541 พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกเป็นคดีนี้ และผู้ต้องหาที่ 1ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามคำร้องขอเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ต้องหาที่ 1 ในชั้นนี้ประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ในการขอฝากขังครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ต้องหาที่ 1 อ้างว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกทำร้ายขู่เข็ญให้รับสารภาพตามข้อกล่าวหาก่อนหน้านั้นโดยไม่สมัครใจซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งผู้ร้องควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ 1 เกินความจำเป็นและกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญหลายประการ เห็นว่า ในการขอฝากขังครั้งแรก ผู้ร้องอ้างเหตุว่าต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง 10 ปาก ส่วนในการขอฝากขังครั้งที่ 2 ผู้ร้องอ้างเหตุว่าต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องอีก 6 ปาก และในการขอฝากขังทั้งสองครั้งผู้ร้องยังอ้างว่าต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาที่ 1 อีกด้วย จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ 1 ต่อไปได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นถามผู้ต้องหาที่ 1 ก่อนมีคำสั่งทั้งสองครั้งแล้วว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ปรากฎว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไม่คัดค้าน คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังได้ตามขอจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฏตามที่ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกทำร้ายขู่เข็ญให้รับสารภาพมาก่อนหน้านั้น ก็ไม่มีผลทำให้คำสั่งอนุญาตให้ฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่ ในกรณีดังกล่าวผู้ต้องหาที่ 1 ชอบที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำร้ายตนตามสิทธิที่มีอยู่ ส่วนคำรับสารภาพของผู้ต้องหาที่ 1 จะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดและการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล จึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองครั้ง ฎีกาของผู้ต้องหาที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ต้องหาที่ 1 ฎีกาประการต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งข้อโต้แย้งของผู้ต้องหาที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตามคำร้องของผู้ต้องหาที่ 1 ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2541 โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวอ้างว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 233, 237 วรรคหนึ่ง, 241 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 234 วรรคหนึ่ง และมาตรา 245 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวในตอนท้ายคำร้องด้วยว่า การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เห็นได้ว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทมาตราใดและเพราะเหตุใด จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย กรณีตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share