คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ หากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างไม่จำต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีก แม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็มีอำนาจฟ้องนายจ้างในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างถูกเลิกจ้างด้วย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไปหลายครั้งขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เสียก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ และฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยขาดงานละทิ้งหน้าที่การงานไปเป็นเวลา 5 วัน ทำงานติดต่อกันตามฟ้อง เป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ โดยมีเหตุอันสมควรกรณีไม่เป็นความผิดตามระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์ และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ข้อ 6.4ของโจทก์ แล้วพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หาจำต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีกไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534แม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534แต่ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share