คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ จำเลยกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินแปลงที่ 2 และที่ 3 ส่วนแปลงที่ 1 จำเลยต่อสู้ว่าเป็นของบุคคลอื่นมิได้ต่อสู้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 ซึ่งมีราคา 7,000 บาท และพอถือได้ว่า ขณะยื่นฟ้องที่ดินดังกล่าวอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาทด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยฟังว่าที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 กับแปลงที่ 2, ที่ 3 ไม่ใช่ของโจทก์ คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 นี้ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง เป็นของโจทก์โดยได้รับมรดกมาจากบิดามารดา ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ ๑ เป็นของนางหนูขินบุตรจำเลยส่วนแปลงที่ ๒, และที่ ๓ เป็นของจำเลยได้มาจากการยกให้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขาดอายุความ
ในชั้นแรกศาลชั้นต้น สืบพยานเฉพาะตัวโจทก์คนเดียวก็สั่งงดสืบพยานอื่น แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ มีการอุทธรณ์และฎีกาต่อมาจนศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นสืบพยานและพิจารณาใหม่แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ แต่ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์โดยนายเจริญ อนันต์ ทายาทของโจทก์ผู้มรณะเข้ามาเป็นคู่ความแทนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ ๑ เป็นของนางหนูขินบุตรจำเลย แปลงที่ ๒ ที่ ๓ เป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินพิพาทแปลงที่ ๒ ที่ ๓ เท่านั้น มิได้ต่อสู้คดีแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ ๑ ซึ่งมีราคา ๗,๐๐๐ บาทและพอถือได้ว่า ขณะยื่นฟ้องที่ดินดังกล่าวอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ ๕,๐๐๐ บาทด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยฟังว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ ๑ กับแปลงที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ใช่ของโจทก์โจทก์จะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ ๑ เป็นของโจทก์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ใช่ของโจทก์
พิพากษายืน

Share