คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การของจำเลยเพราะยื่นเกินกำหนด 8 วัน นับแต่วันรับหมายเรียกเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 (3) แต่จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องใหม่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การที่ได้ยื่นไว้ ศาลชั้นต้นไต่สวน (โดยสอบข้อเท็จจริงจากทนายจำเลย) แล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ คำสั่งตอนหลังนี้ไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จะอุทธรณ์ในทันทีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ จำเลยเช่าห้องแถวของโจทก์เลขที่ ๐๖๔๓/๓ อยู่ถนนบ้านนา ตลาดสัตหีบ ตำบลสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีกำหนด ๕ ปี ครบกำหนดสัญญาเช่าวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ค่าเช่าเดือนละ ๑๐๐ บาท ตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไป ให้จำเลยและบริวารออกจากห้องแถวของโจทก์ ครั้งครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากห้องแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท และเมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในห้องแถวของโจทก์ จำเลยได้รื้อฝากั้นห้องซึ่งกั้นระหว่างห้องแถวของโจทก์กับห้องแถวของนางสุนีย์ ทำให้โจทก์เสียหายครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องของโจทก์ตามฟ้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ ๒,๐๐๐ บาทตั้งแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากห้องแถวของโจทก์และทำฝากั้นห้องให้อยู่ในสภาพเดิมหรือใช้ราคาเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยครั้งแรกไม่ได้เมื่อส่งครั้งที่ ๒ ปรากฏตามรายงานของเจ้าหน้าที่และใบรับหมายเรียกว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้นัดสืบพยานโจทก์และแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ ครั้นวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ จำเลยยื่นใบแต่งทนายความและยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยยื่นคำให้การเกินกำหนด ๘ วันนับแต่วันรับหมายเรียก จึงไม่รับคำให้การ ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๘ จำเลยยื่นคำร้องว่านายประสิทธิ์ แสงทอง นักการศาลได้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๘ และได้บันทึกข้อความวันเวลานัดหมายไว้ที่หมายเรียกคดีแพ่งสามัญให้จำเลยทราบด้วย จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายใน ๒๓ วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ และทนายจำเลยก็ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในวันครบกำหนดดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กำหนด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การที่ได้ยื่นไว้
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของจำเลย ในวันนัดหมายจำเลยแถลงว่านายประสิทธิ์นักการศาลได้ทำการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ตามคำสั่งศาลและได้บันทึกการปิดหมายไว้ในสำเนาคำฟ้องแล้ว แต่ก่อนนายประสิทธิ์จะกลับ จำเลยกลับมาพอดีจึงลงชื่อรับหมายไว้ เมื่อจำเลยมอบสำเนาคำฟ้องให้ทนายจำเลยก็ไม่ได้บอกว่าลงชื่อรับหมายด้วยตนเอง ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำให้การภายใน ๒๓ วันนับแต่วันปิดหมาย ศาลชั้นต้นงดการ ไต่สวนและฟังว่าจำเลยรับหมายด้วยตนเอง การที่ทนายจำเลยมายื่นคำให้การเมื่อครบกำหนด ๘ วันแล้ว เป็นความบกพร่องของทนายจำเลย ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไป
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยเสียก่อนแล้วจึงมีคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การครั้งหลังนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ยื่น เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘ เพราะยื่นเกินกำหนด ๘ วันนับแต่วันรับหมายเรียกนั้นเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ ซึ่ง จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘ (๓) แต่จำเลยก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ กลับมายื่นคำร้องใหม่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การที่ได้ยื่นไว้ ศาลชั้นต้นไต่สวนโดยสอยข้อเท็จจริงจากทนายจำเลยแล้วเห็นว่าการที่จำเลยมายื่นคำให้การเกินกำหนดเป็นความบกพร่องของทนายจำเลย จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ คำสั่งของศาลชั้นต้นตอนหลังนี้จึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ แต่เป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ ซึ่งเป็นคำสั่งโดยปกติในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยจะอุทธรณ์ในทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖
พิพากษายืน

Share