คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3489/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานของโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกการเงินมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับเงินและจ่ายเงินให้ถูกต้อง ตลอดจนการฝากเงิน ถอนเงินธนาคาร และรวบรวมเงินที่คงเหลือทุกวันส่งผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชีและการคลัง ฝ่ายการเงิน เพื่อตรวจสอบและเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานการเงินของโจทก์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตเงินที่ผ่านเข้ามาในแผนกการเงินตามสายงานหลายครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน ทำให้เงินของโจทก์ขาดหายไปรวม 1,394,049.85 บาท วิธีการทุจริตส่วนใหญ่เป็นเรื่องรับเงินมาแล้วไม่ลงบัญชี ไม่ออกใบรับเงิน ทำหลักฐานว่านำเงินไปฝากธนาคารแต่ความจริงไม่ได้ฝาก พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เหล่านี้ถ้าหากจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ไม่อาจทุจริตได้ การที่จำเลยที่ 4 ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายไปโดยการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 4 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 29 บัญญัติให้ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเป็นผู้กระทำการแทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้นมาตรา 23 บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดังนี้ การบริหารก็คือการปกครองและดำเนินการหรือการจัดการ และการฟ้องคดีในนามของนิติบุคคลก็คือการจัดการหรือการดำเนินการนั่นเอง หาใช่การควบคุมดูแลกิจการของนิติบุคคลไม่ อำนาจฟ้องในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงเป็นอำนาจของผู้ว่าการไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ว่าการของโจทก์จึงมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีในนามของโจทก์ได้
เดิมโจทก์มีคำสั่งจ้างจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวัน ต่อมาจึงได้มีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 7ที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าทำงาน เป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการบรรจุและ แต่งตั้งเป็นพนักงานประจำแล้วมิได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก คดีได้ความว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานจะต้อง ยื่นใบสมัครและ ทำสัญญาค้ำประกันอีก เช่นนี้ ที่จำเลยที่ 7 ที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ไว้นั้น คู่สัญญามีเจตนา ให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างรายวันเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ ไม่ได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก และจำเลยที่ 2 ทำละเมิด ต่อโจทก์ในระหว่างเป็นพนักงานประจำ โจทก์จะนำสัญญาค้ำประกัน ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะ ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ เป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ ๖เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๗ ที่ ๘ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๙ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑๐ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นพนักงานการเงิน จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกการเงินกองคลัง จำเลยที่ ๔เป็นหัวหน้าแผนกการเงิน กองบัญชีและการคลัง และจำเลยที่ ๕ เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชีและการคลังฝ่ายการเงิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กับจำเลยอื่นร่วมกันทุจริตด้วยกลวิธีต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายและขาดบัญชีไปเป็นเงิน ๑,๓๙๔,๐๔๙.๘๕ บาทขอให้จำเลยดังกล่าวรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๑๐ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยอื่นให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันชดใช้เงิน ๑,๓๙๔,๐๔๙ บาท ๘๕ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๑๗ จนกว่าชำระเงินเสร็จให้โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๘) ให้ใช้ไม่เกิน ๙๑,๖๘๒ บาท ๕๕ สตางค์ ตามที่ขอมา ถ้าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หรือที่ ๔ ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้จำเลยที่ ๖ ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๗ ร่วมกับจำเลยที่ ๘ ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๑๐ ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๔ ต้องชดใช้เงินให้โจทก์จนครบจำนวนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จะต้องชำระ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๐ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาทแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๙ โดยจำเลยที่ ๑๐ เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ โดยให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยดังกล่าว โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ ๖,๐๐๐ บาท
โจทก์ จำเลยที่ ๔ ที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๐ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๙ โดยจำเลยที่ ๑๒เข้าเป็นคู่ความแทนที่ และจำเลยที่ ๑๐ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ ๔ และที่ ๑๐ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ ๗และที่ ๘ รับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ นั้น นายวีระผู้ว่าการของโจทก์เบิกความว่า เมื่อลูกจ้างชั่วคราวได้รับการบรรจุเป็นพนักงานต้องยื่นใบสมัครอีกครั้งหนึ่ง และจะต้องทำสัญญาค้ำประกันอีกด้วย จำเลยที่ ๗และที่ ๘ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ครั้งเดียวเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน๒๕๑๓ ปรากฏตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๖๐ จำเลยที่ ๒ เริ่มเข้าทำงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓โดยโจทก์มีคำสั่งที่ ๑๖๓๘/๒๕๑๓ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ให้จ้างจำเลยที่ ๒ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓ โดยระบุในคำสั่งว่า “ฯลฯ ให้จ้างนางสาวไสลทิพย์ พูนชัย (จำเลยที่ ๒) ซึ่งสำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพแผนกพณิชยการ จากโรงเรียนดุสิตพณิชยการ เป็นพนักงานบัญชีฝึกหัดรายวัน ประจำแผนกการเงิน กองการคลัง โดยได้รับค่าจ้างวันละ ๒๐ บาท” ปรากฏตามคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอกสารหมาย จ.๔๒ แผ่นที่ ๒๑ ต่อมาโจทก์มีคำสั่งที่ ๗๕/๒๕๑๔ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๔ ให้บรรจุและแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๓ โดยระบุในคำสั่งว่า “ฯลฯ ให้บรรจุและแต่งตั้งนางสาวไสลทิพย์ พูนชัย (จำเลยที่ ๒) พนักงานบัญชีฝึกหัดรายวัน แผนกการเงิน กองการคลัง เป็นพนักงานบัญชีอันดับ ๑ ประจำแผนกการเงิน กองการคลังโดยให้ได้รับอัตราเงินเดือนอันดับที่ ๕ (๗๕๐ บาท) ตามระเบียบ” ปรากฏตามคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอกสารหมาย จ.๔๒ แผ่นที่ ๒๒ เห็นได้ว่า คำสั่งเอกสารหมาย จ.๔๒ แผ่นที่ ๒๑ จำเลยที่ ๒ เข้าทำงานในฐานะลูกจ้างรายวัน ส่วนคำสั่งเอกสารหมาย จ.๔๒ แผ่นที่ ๒๒ เป็นคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.๖๐ เมื่อจำเลยที่ ๒ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำแล้วมิได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก เมื่อคดีได้ความจากคำนายวีระผู้ว่าการของโจทก์ว่า ลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานจะต้องยื่นใบสมัครและทำสัญญาค้ำประกันอีก ศาลฎีกาจึงเห็นว่าที่จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.๖๐นั้น คู่สัญญามีเจตนาให้จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ค้ำประกัน จำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นลูกจ้างรายวันเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำไม่ได้มีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่อีก และจำเลยที่ ๒ ทำละเมิดต่อโจทก์ในระหว่างเป็นพนักงานประจำ โจทก์จะนำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. ๖๐ มาเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ไม่ได้ เหตุผลต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างอิงในฎีกาไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๑๐ ฎีกาว่า นายวีระไม่มีอำนาจฟ้องคดีในนามของโจทก์ อำนาจฟ้องคดีในนามของโจทก์เป็นอำนาจของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การที่นายวีระมอบอำนาจให้นายอักษรฟ้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ถูกต้อง นั้น ปรากฏว่านายวีระเป็นผู้ว่าการของโจทก์ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๒๙ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง” มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า “ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและเป็นผู้กระทำการแทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ” ส่วนคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้นมาตรา ๒๓ บัญญัติว่า มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ศาลฎีกาเห็นว่า การบริหารก็คือการปกครอง การดำเนินการหรือการจัดการ และการฟ้องคดีในนามของนิติบุคคลก็คือการจัดการหรือดำเนินการนั่นเอง หาใช่การควบคุมดูแลกิจการของนิติบุคคลไม่ อำนาจฟ้องในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงเป็นอำนาจของผู้ว่าการ ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายวีระผู้ว่าการของโจทก์จึงมีอำนาจมอบอำนาจให้นายอักษรฟ้องคดีนี้ในนามของโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยที่ ๔ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกการเงิน เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เงินที่ขาดหายไปโดยการกระทำทุจริตของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒นี้เป็นเงินที่ผ่านเข้ามาในแผนกการเงินตามสายงาน ตามคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ ๑๒๐๘/๒๕๐๗ เรื่อง แต่งตั้งตำแหน่งและกำหนดหน้าที่ในกองบัญชีและการคลัง ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๗ กำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ไว้ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการรับเงินและจ่ายเงินให้ถูกต้องตลอดจนการฝากเงิน ถอนเงินธนาคาร และให้รวบรวมเงินที่คงเหลือทุกวันส่งผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชีและการคลัง ฝ่ายการเงิน เพื่อตรวจสอบและเก็บรักษาไว้ต่อไป ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำการทุจริตหลายครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน วิธีการทุจริตส่วนใหญ่เป็นเรื่องรับเงินมาแล้วไม่ลงบัญชี ไม่ออกใบรับเงิน ทำหลักฐานว่านำเงินไปฝากธนาคารแต่ความจริงไม่ได้ฝาก พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เหล่านี้ถ้าหากจำเลยที่ ๔ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่งที่ ๑๒๐๘/๒๕๐๗ ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็ไม่อาจทำการทุจริตได้ การที่จำเลยที่ ๔ ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติจนเป็นเหตุให้เงินของโจทก์ขาดหายไป โดยการกระทำทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ ๔ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ และจำเลยที่ ๑๐ ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดด้วยตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๖๒ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๐ ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share