คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กระทรวงพาณิชย์มีวัตถุประสงค์รวมตลอดถึงการซื้อขายและ แลกเปลี่ยนสินค้าด้วยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการ ปฏิบัติราชการของกระทรวงย่อมมีอำนาจมอบหมายให้ กรมการค้าต่างประเทศโจทก์ซึ่งเป็นกรมในสังกัด ปฏิบัติราชการ ส่วนใดส่วนหนึ่งตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงได้ เมื่อกระทรวง มอบหมายให้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมควบคุมเกี่ยวกับการค้า ต่างประเทศโดยเฉพาะมีหน้าที่ควบคุมการอนุญาตให้ค้าข้าวส่งออก ไปต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อข้าวส่งออกไปต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะตกลงทำ สัญญาซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศกับจำเลยได้โดย ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังจำเลย ณ ที่ตั้งสำนักงานของ จำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการขายข้าวสำรองที่จำเลย ทำให้โจทก์ไว้ มีผู้ลงชื่อรับหนังสือทวงถามแล้ว แม้ จำเลยจะมีภูมิลำเนาตามที่ได้จดทะเบียนไว้แตกต่างออกไป ก็ต้องถือว่าที่ตั้งสำนักงานประกอบกิจการของจำเลยตามความ เป็นจริงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ 6,307,434.70 บาท แก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงินดังกล่าวเพียง 2,200,000บาท กับให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่ต้องรับผิดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,446,850 บาท แก่โจทก์ที่ 1โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงินดังกล่าวเพียง 2,200,000 บาท โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้าส่งข้าวออกไปจำหน่ายนอกอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2518 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับรองการขายข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศรวม 29 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.7 ตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์หมาย จ.3 และ จ.4 ไว้ต่อโจทก์ที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการส่งข้าวสำรองดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือค้ำประกันหมาย จ.8 ข้าวสำรองตามหนังสือรับรองการขายของจำเลยที่ 1 ทั้ง 29 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.7 นั้นมีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 65,242 กระสอบ และจำเลยที่ 1ได้ส่งมอบข้าวสำรองจำนวนนี้ให้โจทก์ที่ 1 แล้ว 805 กระสอบคงค้างส่งมอบอยู่อีกจำนวน 64,437 กระสอบ ดังที่ปรากฏรายละเอียตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองและโจทก์รวมกันตามลำดับไป

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประเด็นแรกว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการสำรองข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศนั้นปรากฏตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 17 ว่ากระทรวงพาณิชย์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพฤติการณ์และกิจการทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์ รวมตลอดทั้งการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า การควบคุมและส่งเสริมเกี่ยวกับกิจการค้าและการประกันภัย และตามข้อ 18 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันนี้ก็ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นส่วนราชการในฐานะเป็นกรมที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ด้วย ปรากฏตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 24 กันยายน2515 ข้อ 21 ว่า ภายใต้บทบัญญัติข้อ 9 กระทรวงหนึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันว่ากระทรวงพาณิชย์ได้วางระเบียบเรื่องการสำรองข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2516 ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวนี้ได้กำหนดให้ผู้ขออนุญาตส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศทำสัญญาตกลงขายข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศไว้ต่อกรมการค้าต่างประเทศโจทก์ที่ 1 ดังที่ปรากฏรายละเอียดในระเบียบดังกล่าวนั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อกระทรวงพาณิชย์มีวัตถุประสงค์รวมตลอดถึงเรื่องการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยดังที่ปรากฏตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ดังกล่าวแล้ว กระทรวงพาณิชย์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงย่อมมีอำนาจมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในสังกัดปฏิบัติราชการส่วนใดส่วนหนึ่งตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงพาณิชย์ได้ เมื่อกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศดังที่ปรากฏตามระเบียบเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โจทก์ที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะตกลงทำสัญญาซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศกับจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบด้วยกฎหมายความข้อนี้จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าโจทก์ที่ 1 จะทำการค้าข้าวเองได้ก็โดยได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพียงแต่โต้แย้งว่าการมอบหมายดังกล่าวจะต้องปรากฎข้อความว่าได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 รับว่ากระทรวงพาณิชย์ได้วางระเบียบไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ตามเอกสารดังกล่าวแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ในการซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่านายเกษม เจริญเผ่า ผู้อำนวยการกองการค้าข้าวพยานโจทก์เบิกความว่า กรมการค้าต่างประเทศมีหน้าที่ส่งเสริมควบคุมเกี่ยวกับค้าต่างประเทศโดยเฉพาะมีหน้าที่ควบคุมการอนุญาตให้ค้าข้าวส่งออกไปต่างประเทศจึงหาได้มีอำนาจเกี่ยวกับกิจการค้าในประเทศและอำนาจหน้าที่สำรองข้าวเพื่อบริโภคในประเทศอย่างใดไม่นั้น คำเบิกความของนายเกษมเจริญเผ่า ดังกล่าวนั้นเป็นการเบิกความถึงอำนาจหน้าที่ตามปกติของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี นายเกษมก็ได้เบิกความต่อไปด้วยว่า เรื่องข้าวสำรองเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งออกระเบียบไว้และมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติ ดังนั้น คำเบิกความของนายเกษมจึงมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะตกลงทำสัญญาซื้อข้าวสำรองเพื่อการบริโภคภายในประเทศจากจำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมาแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ

“ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดนัดนั้น โจทก์มีนายสุพจน์ อัมภุประภา มาเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.22 ซึ่งมีข้อความเหมือนกันโดยทางโปรษณีย์ตอบรับ และหนังสือทวงถามดังกล่าวส่งถึงจำเลยที่ 1 แล้วตามใบตอบรับหมาย จ.15 โดยโจทก์มีนายชนุตย์ ศรีปราบ ผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศโจทก์ที่ 1 มาเบิกความประกอบกับยืนยันว่าตนเป็นผู้ลงชื่อแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ โจทก์ที่ 1 ในเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.26 ถึงจำเลยที่ 1 จริง ปรากฏตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.15 ว่า โจทก์ที่ 1 ได้ส่งหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ณ บ้านเลขที่ 1/3 ถนนจักรพรรดิพงษ์ตำบลวัดโสมนัส อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการขายข้าวสำรองทุกฉบับที่จำเลยที่ 1 รับว่าได้ทำให้โจทก์ที่ 1 ไว้ตามเอกสารหมาย จ .7 นั่นเองและในใบตอบรับดังกล่าวก็มีผู้ลงชื่อรับหนังสือทวงถามดังกล่าวไว้แล้วแม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาตามที่ได้จดทะเบียนไว้ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แตกต่างออกไป แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้บ้านเลขที่ 1/3 ถนนจักรพรรดิพงษื ตำบลวัดโสมนัส อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งสำนักงานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ตามความเป็นจริงกรณีก็ต้องถือว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 ส่งหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.14 หรือ จ. 26 ถึงจำเลยที่ 1 ณ สถานที่ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการส่งหนังสือทวงถามถึงจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว หนังสือทวงดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2520 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1ก็ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2520 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นข้อนี้นอกจากที่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยดังกล่าวแล้วไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหายฟังขึ้นเพียงบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ และฎีกาของจำเลยที่ 2 กับของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,906850 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวเพียง 2,200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share