แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 จำเลยที่ 2 ทำขึ้นเพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2529 ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า เพื่อเป็นประกันหนี้เงินเบิกเกินบัญชีหนี้เงินกู้แล้ว ยังจำนองเป็นประกันหนี้สินอื่นใดบรรดาที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่แล้วในขณะทำสัญญานี้และหรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้าและตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันระบุว่า เงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาจำนองเดิมทุกประการดังนั้น สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว นอกจากจะประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ขณะทำสัญญาจำนองแล้ว ยังประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย การที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพิ่มเติมอีก ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในภายหน้า สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกัน จึงมีผลผูกพันเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวในทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองหรือขึ้นเงินจำนองอีก
ตามสัญญากู้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในครั้งแรกโจทก์จะคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยไม่ถึงร้อยละ 18.5 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไป โดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้ กรณีหาใช่เรื่องลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องอันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่
(วรรคสองวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2543)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดเท่าที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด(ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี) ของต้นเงินที่ค้างชำระและจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 60,500 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองและขึ้นเงินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44069, 44070 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันรวมเป็นวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,000,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ผ่อนชำระตามสัญญา โจทก์จึงได้ทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,618,815.80 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,997,287.67 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44069 และ 44070 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน4,120,716.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน2,997,287.67 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 27มีนาคม 2538 จำนวน 26,015 บาท วันที่ 20 กันยายน 2538จำนวนเงิน 300,000 บาท และวันที่ 20 ธันวาคม 2538 จำนวน93,466 บาท หักชำระหนี้ด้วยโดยชำระดอกเบี้ยก่อน ที่เหลือให้ชำระต้นเงิน หากไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 44069 และ44070 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ถ้าไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน4,618,815.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,997,287.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44069 และ 44070 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมเมื่อวันที่ 25พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 1,400,000บาท โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 44069 และ 44070 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.16 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองต่อเจ้าพนักงานที่ดินอีก 1,600,000บาท ตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมายจ.17 และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์สาขาสุรวงษ์จำนวน 3,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะทำสัญญากำหนดอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,500 บาท ทุกวันที่ 18ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 โดยจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ 4 ครั้ง เป็นเงิน 228,138.53 บาท คงค้างชำระต้นเงิน 2,997,287.67บาท ดอกเบี้ย 1,621,528.13 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,618,815.80 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ของจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 ด้วยหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ไม่เกี่ยวกับสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13ซึ่งกระทำขึ้นภายหลังระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า แม้สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมาย จ.16 และจ.17 จำเลยที่ 2 จะทำขึ้นก่อนแล้วเพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมที่จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2529 แต่ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 1 ระบุว่าเพื่อเป็นประกันหนี้เงินเบิกเกินบัญชีหนี้เงินกู้แล้ว ยังจำนองเป็นประกันหนี้สินอื่นใดบรรดาที่ผู้จำนองและหรือนายเสนาะ ธีระวิเชียรเจริญเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่แล้วในขณะทำสัญญานี้และหรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้าและตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งตามเอกสารหมาย จ.17 ระบุว่า ส่วนเงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาจำนองเดิมทุกประการ ดังนั้น สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งของจำเลยที่ 2ดังกล่าว นอกจากจะประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ขณะทำสัญญาจำนองแล้วยังประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย การที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพิ่มเติมอีก3,000,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในภายหน้า สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 จึงมีผลผูกพันเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวในทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนจำนองหรือขึ้นเงินจำนองอีก ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า สัญญาจำนองและข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17ได้ระงับสิ้นไป เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้ครั้งก่อนเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 ไปปิดบัญชีชำระหนี้เงินที่กู้จากโจทก์ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.14 ก็เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 แล้ว หนี้ที่สัญญาจำนองเป็นประกันยังไม่ระงับสิ้นไปทั้งหมด จึงไม่ทำให้สัญญาจำนองและข้อตกลงบันทึกขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่หนึ่งตามเอกสารหมายจ.16 และ จ.17 ระงับสิ้นไป
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ18.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งโจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 2 มีใจความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่กู้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีแม้จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดชำระหนี้ การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในครั้งแรกโจทก์จะคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1ไม่ถึงร้อยละ 18.5 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป โดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญาได้ กรณีหาใช่เรื่องลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องอันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
พิพากษายืน