คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างกันโดยไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่อย่างใดไม่ การที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจากันมีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้
เมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ โดยโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างสำหรับการเข้าทำงานสายแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นอีก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใด ที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปมาลงโทษทางวินิจฉัยด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9

ย่อยาว

ศาลฎีกามีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้เข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 9 และเรียกจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 40 ในสำนวนคดีหลังว่าจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 40
โจทก์ในสำนวนแรกฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่บึงกุ่มที่ 24/2544 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ในสำนวนหลังฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 125-169/2544 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2544
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง นายยุทธศาสตร์ โสภิตะชา กับพวกรวม 40 คน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งแปดและจำเลยร่วมทั้งสี่สิบให้การว่า คำสั่งของจำเลยทั้งแปดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว สำนวนแรกพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่บึงกุ่ม ที่ 24/2544 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ส่วนสำนวนหลังพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และโจทก์ในสำนวนหลังอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในคดีทั้งสองสำนวนแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอแก่การวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเสร็จแล้วให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเสร็จแล้วจึงส่งถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 ลูกจ้างโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมดได้ชุมนุมกันหน้าบริษัทโจทก์โดยไม่เข้าทำงานเพราะไม่พอใจที่โจทก์จะงดจ่ายเงินโบนัสในปี 2543 ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 200 คนเศษ รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมด มีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในการเจรจา 8 คน ในวันเดียวกันได้มีการเจรจาระหว่างผู้แทนโจทก์กับผู้แทนลูกจ้าง โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าร่วมในการเจรจาและลงชื่อด้วย การเจรจาสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสให้ในวันที่ 10 เมษายน 2544 และวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โจทก์จะไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่เข้าทำงานในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 และให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานปกติในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ทั้งได้นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2544 โจทก์ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในขณะนั้น ดังนี้ เห็นว่า เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่อย่างใดไม่ การที่บรรดาลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ในสำนวนหลังว่ามีกรณีที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา จำเลยร่วมทั้งหมดกับพวกลูกจ้างในคดีนี้และพวกคนงานอื่นได้เริ่มมารวมตัวกันบริเวณหน้าบริษัทโจทก์ด้วยความสมัครใจเพื่อรอฟังว่าเพื่อนร่วมงานที่ชุมนุมต้องการอย่างไร หากต้องการชุมนุมต่อก็พร้อมจะชุมนุมด้วย หากจะกลับเข้าทำงานก็พร้อมที่จะเข้าทำงาน มีผู้แทนเจรจาบางคนช่วยชี้แจงถึงข้อตกลงที่ทำไว้และชักจูงให้พนักงานกลับเข้าทำงาน มีพนักงานบางคนเข้าทำงาน นางรุ่งนภา ขันคำ ขออนุญาตฝ่ายบริหารของโจทก์และชี้แจงให้พนักงานที่ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ หลังจากนั้นพนักงานทั้งหมดได้ขอกลับเข้าทำงานเมื่อเวลาประมาณ 7.15 นาฬิกา จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระหว่างเวลา 7 นาฬิกา ถึง 7.15 นาฬิกา แต่พนักงานเหล่านี้มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาให้นายจ้างได้รับความเสียหายและมิได้มีเจตนากระทำความผิดอาญาต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างขอกลับเข้าทำงานแล้ว ฝ่ายนายจ้างจัดให้ลูกจ้างรออยู่ที่โรงอาหาร จากนั้นผู้บริหารของโจทก์ซึ่งรวมถึงกรรมการผู้จัดการได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างเหล่านี้โดยกล่าวขอให้พนักงานร่วมมือกันทำงานและลืมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเสียโดยผู้บริหารของโจทก์พูดในลักษณะขอให้เลิกแล้วต่อกัน ให้ร่วมมือกันทำงานต่อไปโดยจะไม่นำเรื่องใดๆ จากเหตุการณ์นี้มาเป็นข้อบาดหมางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีก โจทก์ได้หักค่าจ้างลูกจ้างที่ชุมนุมกันในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 และเข้าทำงานเกินไปจากทำงานปกติเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งการหักค่าจ้างนี้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่โจทก์ใช้แก่พนักงานที่เข้าทำงานสายอันมีลักษณะเป็นการทำโทษพนักงานที่ทำผิดข้อบังคับในการทำงาน โจทก์จึงมีการกระทำหรือพฤติการณ์ที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้โดยฝ่ายโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างลูกจ้างคนละ 1 ชั่วโมง สำหรับการเข้าทำงานสายในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 แล้ว โจทก์ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นแก่ลูกจ้างเหล่านี้อีก ดังนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์อันเป็นเหตุที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และกรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใดที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 มาลงโทษด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share