แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบ ความสงบสุขและความปลอดภัยแก่ประชาชนและเป็นความผิดที่ไม่มีผู้ถูกกระทำ ถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 อันเป็นความผิดลหุโทษนั้น ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้เสียหายเพราะมิใช่เป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจจากการกระทำความผิดฐานนี้ แต่ อ. เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวทั้งตามคำร้องก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลของ อ. ซึ่งอยู่ในความดูแลอันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 3(2) ประกอบด้วยมาตรา 5(1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์ในขณะเมาสุราและจำเลยกับนายเอกรินทร์ จงเสถียร ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นายเอกรินทร์ได้รับอันตรายแก่กายและทำให้รถยนต์คันที่จำเลยขับชนตู้ชุมสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ริมถนนและรถยนต์อีก 3 คันได้รับความเสียหาย กับทำให้รถยนต์คันที่นายเอกรินทร์ขับชนเสาไฟฟ้าข้างทางและเสียหลักพุ่งชนท้ายรถยนต์อีก 1 คันได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(2)(4), 157 และ 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องมอบอำนาจให้นายพีระ จงเสถียรยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งถูกจำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนได้รับความเสียหายและนายเอกรินทร์ได้รับอันตรายแก่กายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ผู้เสียหายคือรัฐ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้รับอันตรายแก่กาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายและมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(2)(4), 157 และ 160 กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบ ความสงบสุข และความปลอดภัยแก่ประชาชนและเป็นความผิดที่ไม่มีผู้ถูกกระทำ ถือว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรงรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 อันเป็นความผิดลหุโทษนั้น ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้เสียหาย เพราะมิใช่เป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจจากการกระทำความผิดฐานนี้ แต่นายเอกรินทร์จงเสถียรเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว ทั้งตามคำร้องก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลของนายเอกรินทร์ซึ่งอยู่ในความดูแลอันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 3(2) ประกอบด้วยมาตรา 5(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน