คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับฝากสินค้าราคาสองหมื่นบาทเศษของโจทก์ไว้แล้วสินค้านั้นสูญหายไป จำเลยจึงมีหนังสือยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท โจทก์ปฏิเสธ ต่อมาได้มีการเจรจากันอีก จำเลยมีหนังสือยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของราคาสินค้า แต่โจทก์ก็ไม่ตกลง ดังนี้ เห็นได้ว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าสินค้าที่หายรายนี้ให้โจทก์นั้นเป็นการยอมรับแล้วว่าหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปมีอยู่จริงเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ชดใช้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 30 สิงหาคม 2502 จำเลยรับฝากสินค้าของโจทก์คือ เครื่องรับวิทยุกระเป๋าหิ้วและลำโพงขยายเสียง รวม 1 หีบโจทก์ชำระราคาและค่าใช้จ่ายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นตัวแทนเรียกเก็บของผู้ขายเป็นเงิน 23,003.23 บาท แล้วไปขอรับสินค้าจากจำเลย ๆ ไม่มีมอบให้ โจทก์ทวงถามก็ผัดเรื่อยมา ที่สุดจำเลยขอร้องให้โจทก์ยอมรับค่าเสียหายจากจำเลยเพียงครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 11,501.62 บาท โจทก์ไม่ตกลง ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วก็เพิกเฉย จึงฟ้องขอให้จำเลยใช้เงิน 23,003.23 บาท

จำเลยให้การว่า รับฝากสินค้าไว้จริง แต่โจทก์มิได้แจ้งราคาที่แท้จริงของสินค้าที่ฝากให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือตามข้อบังคับ จำเลยจึงยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาทตามข้อบังคับโจทก์ไม่ยอม มีการเจรจากันที่สุดเพื่อมิให้ยุ่งยาก จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 11,501.62 บาท โจทก์ไม่ตกลง โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 6 เดือน จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 671 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว กำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า

1. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

2. จำเลยมีข้อบังคับตามที่อ้างหรือไม่

3. โจทก์ได้ทราบข้อบังคับนี้หรือไม่

4. จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด

แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อ 1 ว่า คดีนี้เป็นเรื่องขอรับใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากสิ่งของของโจทก์ที่หายไป แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาเอกสาร จ.1 ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกก็คือราคาทรัพย์สินที่จำเลยรับฝากไว้นั่นเอง หาใช่ค่าสินไหมทดแทนดังศาลชั้นต้นกล่าวไม่ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นที่ได้ตั้งไว้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยได้มีหนังสือหมาย ล.7 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2503 แจ้งให้ผู้จัดการบริษัทอิสเอเซียติ๊ก จำกัด ผู้ส่งมอบสินค้ารายนี้ทราบว่ายังค้นหาหีบดังกล่าวไม่พบจึงไม่อาจส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ได้ จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท ตามระเบียบ ต่อมาโจทก์มีหนังสือหมาย ล.6 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2503 ตอบปฏิเสธมายังจำเลยในเรื่องที่จำเลยขอชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท ต่อมาได้มีการเจรจากัน ในที่สุดจำเลยยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าเป็นเงิน 11,501.62 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่โจทก์ไม่ตกลง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.7 และ จ.1 ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าสินค้าที่หายรายนี้ให้โจทก์นั้น เป็นการรับอยู่แล้วว่าหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายมีอยู่จริง การที่จำเลยขอลดค่าชดใช้ลงตามข้อบังคับโดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งราคาสินค้าอันแท้จริงให้จำเลยทราบก็ดี เพื่อตัดข้อยุ่งยากในการต่อสู้คดีทางศาลก็ดี เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างขึ้นเพื่อลดหย่อนภาระในการชำระหนี้เท่านั้น หาได้ปฏิเสธความรับผิดในหนี้รายนี้ไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ ชดใช้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปแล้วอายุความฟ้องร้องย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ฉะนั้น หากแม้จะฟังว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนก็ตาม นับแต่วันที่จำเลยมีหนังสือ จ.1 ลงวันที่ 27 เมษายน 2504 รับสภาพหนี้ต่อโจทก์จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2504 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีนี้ ก็ยังไม่พ้น6 เดือน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

จึงพิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share