แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำผิดเมื่อวันที่ 6 เวลากลางคืนติดต่อกับเวลากลางวันตอนเช้ามืด ทางพิจารณาได้ความว่าเหตุเกิด 05.00 น.เศษของวันที่ 6 ดังนี้ ถือว่าไม่เป็นฟ้องผิดวัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๘ เวลากลางคืนติดต่อกับเวลากลางวัน (เวลาตอนเช้ามืด) จำเลยได้พยายามลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม+อาญา ม.๒๙๓ และ ๖๐
ทางพิจารณาได้ความว่า ในวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๘ เวลาราว ๒๑.๐๐ น. จำเลยได้มาเช่าห้องโรงแรม และเกิดเหตุเรื่องนี้ขึ้นในคืนนั้นเวลาราว ๐๕.๐๐ เศษ ศาลชั้นต้นถือว่าเป็นเหตุเกิดในคืนวันที่ ๕ มกราคม เพราะกฎหมายอาญาประกาศใช้ในสมัยที่ทางราชการถือว่าการเปลี่ยนวันใหม่เริ่มเมื่อพ้นเวลารุ่งอรุณหรือ ๖.๐๐ ไปแล้ว ประกาศของทางราชการที่ให้ถือว่าขึ้นวันใหม่หลังเที่ยงคืนมิได้ทำเป็นรูปกฎหมาย จะมาเปลี่ยนแปลงกฎหมายไม่ได้ และอ้างก.ม.อาญา ม.๖ พิพากษายกฟ้องตาม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.๑๔๒
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๘ เวลา ๐๕.๐๐ น. ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องนับเวลาในราชการลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๐ ซึ่งนับขึ้นวันใหม่ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนไปแล้ว ประกาศฉบับนี้เป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ต้องถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ ส่วนอาญา ม. ๖ นั้นเป็นเพียงอธิบายลักษณะของเวลาที่เรียกว่ากลางคืนมิได้เกี่ยวกับเรื่องการนับเวลา พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดในข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา และอ้างฎีกาที่ ๕๓๗/๒๔๗๙ กับว่าฟ้องไม่ได้มีคำว่า ก่อนเที่ยง เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ศาลฎีกาเห็นว่าตามศาลอุทธรณ์ว่า เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๘ เวลา ๐๕.๐๐ น.ฎีกาที่จำเลยอ้างเป็นเรื่องเหตุเกิดเวลาก่อนรุ่งของวันแรม ๘ ค่ำ แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในวันแรม ๙-๑๐ ค่ำเป็นคนละคืนกัน และที่ว่าฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์ได้วงเล็บไว้แล้วว่า เวลาตอนเช้ามืดเห็นได้ชัดอยู่แล้ว ไม่เป็นการเคลือบคลุม พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์