แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความจริงตามคำขอเอาประกันชีวิตที่เกี่ยวกับรายได้และความสามารถในการหารายได้ของผู้เอาประกันตลอดจนข้อที่ผู้เอาประกันเคยถูกบริษัทประกันชีวิตอื่นปฏิเสธหรือลดจำนวนเงินขอเอาประกันถือว่าเป็นข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ผู้เอาประกันจะต้องเปิดเผยให้บริษัททราบเพราะอาจจะจูงใจให้บริษัทเรียกเก็บเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาได้เมื่อผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวในเวลาทำสัญญาสัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะตามป.พ.พ.มาตรา865และเมื่อบริษัทได้บอกล้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วสัญญาย่อมตกเป็นโมฆะบริษัทไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 กับพวกและจำเลยที่ 4กับพวก ให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันชีวิต 2 ฉบับที่นายสุนทร สุขเจริญทำไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์โดยให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 400,000 บาท และ 2,000,000 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การปฎิเสธ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทไทยประกันชีวิตจำกัด จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาทให้บริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ชำระแทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่น ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยอื่นให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนที่นายสุนทรจะยื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 นายสุนทรเคยถูกบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตปฎิเสธหรือลดจำนวนเงินขอเอาประกันและนายสุนทรได้เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยที่ 4 ในจำนวนทุนประกัน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์เลขที่ 99742 แต่นายสุนทรไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทั้ง ๆ ที่คำขอเอาประกันชีวิต ข้อ 6 มีคำถามว่า “ในปัจจุบันท่านได้สมัครเอาประกันชีวิต-สมัครเป็นสมาชิกฌปนกิจสงเคราะห์ไว้กับบริษัท-สมาคมใดบ้าง” และคำแถลงของผู้ขอเอาประกันข้อ14 มีคำถามว่า “คำขอเอาประกันของท่านเคยถูกปฎิเสธผัดผ่อน ยกเลิกหรือรับโดยการเพิ่มเบี้ยประกันหรือไม่” ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงว่าการที่นายสุนทรเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยที่ 4 นายสุนทรจะต้องชำระเบี้ยประกันเป็นเงินปีละ 32,210 บาท เมื่อนายสุนทรมาเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยที่ 1 อีก นายสุนทรจะต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นปีละ10,800 บาท เมื่อรวมกันแล้วนายสุนทรจะต้องชำระเบี้ยประกันเป็นเงินปีละ 43,010 บาท หรือเดือนละ 3,500 บาทเศษ หากจำเลยที่ 1 ทราบความจริง จำเลยที่ 1 ก็ต้องนำข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายได้และความสามารถในการหารายได้ของนายสุนทร ตลอดจนข้อที่นายสุนทรเคยถูกบริษัทประกันชีวิตปฎิเสธหรือลดจำนวนเงินเอาประกันมาประกอบดุลพินิจในการพิจารณารับประกัน ทั้งข้อที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์ให้นายสุนทรใช้จ่ายเดือนละ 4,000-5,000 บาท โจทก์กันเงินไว้ให้นายสุนทรปีละ100,000 บาท และเดือนมกราคม 2522 เงินของนายสุนทรอยู่กับโจทก์ประมาณ200,000 บาท เป็นทำนองว่านายสุนทรมีรายได้และมีเงินมากสามารถชำระเบี้ยประกันได้นั้น ก็มีแต่คำของโจทก์ที่เบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง และพฤติการณ์ที่โจทก์ขวนขวายจะให้นายสุนทรเอาประกันชีวิตเป็นจำนวนทุนประกันสูงถึง1,000,000 บาท น่าเชื่อว่าหากนายสุนทรเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 อาจจะจูงใจจำเลยที่ 1 ให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาถือได้ว่าข้อความจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายสุนทรกับจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์เลขที่ 8938016 จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สัญญาประกันชีวิตฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และสำหรับสัญญาประกันชีวิตระหว่างนายสุนทรกับจำเลยที่ 4 ตาากรมธรรม์เลขที่ 99742 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนที่นายสุนทรจะยื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 4นายสุนทรเคยถูกบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ จำกัด ปฎิเสธหรือลดจำนวนเงินขอเอาประกัน และโจทก์มิได้เป็นมารดาของนายสุนทร แต่นายสุนทรยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลยที่ 4 โดยปกติข้อเท็จจริงว่านายสุนทรไม่เคยถูกบริษัทประกันชีวิตปฎิเสธหรือลดจำนวนเงินขอเอาประกัน และโจทก์เป็นมารดาของนายสุนทร ทั้งข้อที่นายสุนทรให้ถ้อยคำไว้ในคำขอเอาประกันชีวิต ข้อ 16 ว่านายสุนทรเป็นผู้ออกเบี้ยประกันเองก็ไม่น่าเชื่อ เพราะเบี้ยประกันที่ต้องชำระตามกรมธรรม์ฉบับนี้เป็นเงินถึงปีละ 32,210 บาท และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายสุนทรมีรายได้และมีเงินมากดังที่โจทก์เบิกความ ฉะนั้น หากนายสุนทรเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าให้จำเลยที่ 4 ทราบ อาจจะจูงใจจำเลยที่ 4 ให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาถือได้ว่าข้อความจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายสุนทรกับจำเลยที่ 4 ตามกรมธรรม์เลขที่ 99742 จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 เมื่อจำเลยที่ 4 ใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสัญญาประกันชีวิตฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4เช่นเดียวกันกับที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1… ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.