คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ++
++
จำเลยติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายไปทำงานในประเทศกาตาร์ ตำแหน่งพนักงานขับรถ มีเงินเดือน เดือนละประมาณ 8,000 บาท และเก็บเงินจากผู้เสียหายรวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 30,000 บาท เป็นค่าช่วยเหลือให้ความสะดวกในการส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 16,000 บาทรวมอยู่ด้วย เมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงบริษัทที่ประเทศกาตาร์ ประมาณ 3 สัปดาห์ก็ยังไม่ได้ทำงาน เนื่องจากไม่มีงานในตำแหน่งพนักงานขับรถตามที่จำเลยกล่าวอ้างต่อจากนั้นบริษัท ม.ให้ผู้เสียหายทำงานขัดหิน เงินเดือนเดือนละประมาณ 4,000 บาทผู้เสียหายแจ้งแก่นายจ้างว่าต้องการกลับประเทศไทย แต่ได้รับคำชี้แจงว่าผู้เสียหายต้องทำงานหาเงินเป็นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเอง ผู้เสียหายจึงต้องทำงานต่อไปอีกจนได้ค่าจ้างเป็นเงินเพียงพอเป็นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้วเดินทางกลับประเทศไทย และทวงถามเงินคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้หลังจากผู้เสียหายกลับมาถึงประเทศไทยเพียงไม่กี่วัน ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 45,000 บาทโดยจ่ายให้ผู้เสียหายในวันที่ตกลงกันจำนวน 25,000 บาท ส่วนอีก 20,000 บาทจะจ่ายให้ผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายไปแถลงต่อศาลว่าไม่เอาความแก่จำเลย นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านจำเลยพบเครื่องโทรสาร เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ตรายาง และสิ่งของรายการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งหนังสือเดินทางจำนวน 29 เล่ม ซึ่งค้านกับข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ได้จัดหางาน รับสมัครงานหรือมีธุรกิจด้านนี้เลย ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และไม่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหายนั้น ขัดต่อเหตุผลและไม่น่าเชื่อฟัง แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวรู้เห็นในขณะที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายและได้เงินจากผู้เสียหายตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อตามพฤติการณ์แห่งคดีและพยานแวดล้อมต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความจริง กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้เงินไปจากผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 91 ตรี การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 หาได้หมายความว่า พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตฉ้อโกง และปลอมเอกสาร แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้อีกด้วย ก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดข้อหาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้วพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๖ วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๘ เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศให้แก่คนงานทั่วไปรวมทั้งนายไพเราะ ศิลลา ผู้เสียหาย ซึ่งประสงค์จะไปทำงานกับนายจ้างในประเทศกาตาร์โดยเรียกและรับเงินเป็นค่าบริการและค่าตอบแทนในการจัดหางานให้ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหางานให้ผู้เสียหายเพื่อส่งผู้เสียหายไปทำงานในประเทศกาตาร์ ตำแหน่งพนักงานขับรถ เงินเดือน ๑,๑๐๐ ริยัล แต่ผู้เสียหายต้องเสียค่าบริการจัดหางานให้แก่จำเลย อันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ทั้งจำเลยก็ไม่สามารถที่จะส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศในตำแหน่งและเงินเดือนดังกล่าวได้ ด้วยการหลอกลวงของจำเลยทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงไปสมัครเพื่อจะไปทำงานในต่างประเทศ และชำระค่าบริการจัดหางานตามจำนวนที่จำเลยเรียกร้องให้แก่จำเลย เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๘๒ และมาตรา๙๑ ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๙๑ ตรีเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๓ ปีฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จำคุก ๓ ปี รวมจำคุกจำเลย๖ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี จำคุก๓ ปี ยกฟ้องฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนายไพเราะ ศิลลา ผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๖ จำเลยติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายไปทำงานในประเทศกาตาร์ ตำแหน่งพนักงานขับรถ มีเงินเดือน เดือนละประมาณ ๘,๐๐๐ บาทและเก็บเงินจากผู้เสียหายรวม ๔ ครั้ง เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าช่วยเหลือให้ความสะดวกในการส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศจำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท รวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๗ผู้เสียหายเดินทางไปถึงบริษัทมาร์เบิล กรานิต เซนเตอร์ ที่ประเทศกาตาร์ ประมาณ๓ สัปดาห์ แล้วก็ยังไม่ได้ทำงาน เนื่องจากไม่มีงานในตำแหน่งพนักงานขับรถให้ผู้เสียหายทำตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ต่อจากนั้นบริษัทดังกล่าวให้ผู้เสียหายทำงานขัดหินเงินเดือนเดือนละประมาณ ๔,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายแจ้งแก่นายจ้างว่าต้องการกลับประเทศไทย แต่ได้รับคำชี้แจงว่าผู้เสียหายต้องทำงานหาเงินเป็นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเอง ผู้เสียหายจึงต้องทำงานต่อไปอีกจนได้ค่าจ้างเป็นเงินประมาณ ๑๒,๐๐๐ บาท เพียงพอเป็นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้วเดินทางกลับประเทศไทย และทวงถามเงินคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานอื่นรู้เห็นอยู่ด้วยในขณะที่ผู้เสียหายและจำเลยตกลงกัน แต่โจทก์ก็มีจ่าเอกจรัญ นันทกร เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตรเบิกความสนับสนุนผู้เสียหายว่า หลังจากผู้เสียหายกลับมาถึงประเทศไทยเพียงไม่กี่วัน ผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จ่าเอกจรัญสอบปากคำผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายก็ให้การยืนยันเช่นเดียวกับที่เบิกความต่อศาล ตามเอกสารหมาย จ.๑ จำเลยเองนำสืบยอมรับว่าช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไปทำงานที่บริษัทมาร์เบิล กรานิต เซนเตอร์ประเทศกาตาร์ แต่เป็นการช่วยเหลือโดยไม่มีค่าตอบแทนในฐานะที่จำเลยรู้จักกับญาติของผู้เสียหาย และจำเลยไม่ได้หลอกลวงผู้เสียหาย นอกจากนี้ผู้เสียหายร้อยตำรวจเอกพิทยา อำพันธ์มณี พนักงานสอบสวนและจำเลยยังเบิกความรับกันว่า เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจำนวน ๔๕,๐๐๐ บาท โดยจ่ายให้ผู้เสียหายในวันที่ตกลงกันจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาทส่วนอีก ๒๐,๐๐๐ บาท จะจ่ายให้ผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายไปแถลงต่อศาลจังหวัดพิจิตรว่าไม่เอาความแก่จำเลย ตามเอกสารหมาย จ.๔ อีกทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพิทยา ว่า เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านจำเลยพบเครื่องโทรสารเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ตรายาง และสิ่งของรายการอื่น ๆ อีกหลายอย่างรวมทั้งหนังสือเดินทางจำนวน ๒๙ เล่ม ตามบัญชีของกลาง เอกสารหมาย ป.จ.๑ซึ่งค้านกับข้ออ้างของจำเลยที่ว่าไม่ได้จัดหางาน รับสมัครงาน หรือมีธุรกิจด้านนี้เลยเมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายรวมทั้งจ่าเอกจรัญ เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตรและร้อยตำรวจเอกพิทยา พนักงานสอบสวนต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามที่รู้เห็นมา แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวรู้เห็นในขณะที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายและได้เงินจากผู้เสียหายตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อตามพฤติการณ์แห่งคดีและพยานแวดล้อมต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความจริง กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้เงินไปจากผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี ตามฟ้อง
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า ปรากฏจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพิทยา พนักงานสอบสวนว่า ชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยกับพวกว่าร่วมกันจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉ้อโกงและปลอมเอกสารเท่านั้น แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้อีกข้อหาหนึ่งด้วย โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ นั้น เห็นว่า การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ หาได้หมายความว่า พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉ้อโกง และปลอมเอกสารแต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้อีกด้วย ก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดข้อหาดังกล่าวตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดข้อหาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share