คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทซึ่งห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจำนวนเงิน 100,000บาท โดยจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังมาขายลดให้โจทก์ถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 ส่วนโจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงินให้แก่มารดาจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินดังกล่าวจำนวนเงิน 110,000 บาท ถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 15 สิงหาคม 2522 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 2 ขอหักกลบลบหนี้ตามเช็คกับหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ซึ่งหนี้ทั้งสองยังไม่ถึงกำหนดชำระกรณีจึงไม่อาจบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ได้ จำเลยไม่อาจนำหนี้ตามตั๋วแลกเงินหักกลบลบหนี้ตามเช็คพิพาทได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2522 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 3 เป็นผู้สลักหลังมาขายลดให้โจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 3ไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2522 ธนาคารตามเช็คพิพาทได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทโดยอ้างว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”ตามเอกสารหมาย จ.2 คงมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์หรือไม่

ทางพิจารณาจำเลยทั้งสามซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เคยฝากเงินไว้แก่โจทก์ในนามของเอี๊ยบ แซ่อั๊ง และนางมุยลั้ง แซ่ป๋วย ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงินให้ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 จำนวนเงิน 110,000 บาท ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำไปประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 2 ได้ออกหักกลบลบหนี้ตามเช็คพิพาทและตั๋วแลกเงินกับโจทก์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งว่า ให้รอหนี้ตามตั๋วแลกเงินถึงกำหนดชำระเสียก่อน เพราะขณะนั้นมีข่าวว่าดจทก์จะล้มละลาย ทางฝ่ายโจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ถอนตั๋วแลกเงินไปหักกลบลบหนี้ ต่อมาโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 2 หักกลบลบหนี้ ได้ จึงไม่ได้เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาท เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 คงเป็นเจ้าหนี้โจทก์อีก 10,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เป็นเงินประมาณ 20,000 บาทเศษ

โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2522 จำเลยที่ 3 ได้นำเช็คฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2522 มาขายลดให้โจทก์ ปรากฏตามสัญญาขายลดเช็คและรายการแนบท้ายสัญญา เอกสารหมาย จ.4, จ.5 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาเมื่อถึงกำหนดตามเช็คดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้นำเช็คพิพาทมาเปลี่ยนกับเช็คเดิม เมื่อถึงกำหนดตามเช็คพิพาท โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2522 อันเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่อาจขอหักกลบลบหนี้ตามเช็คกับหนี้ตามตั๋วแลกเงินได้ เพราะตั๋วแลกเงินเป็นของผู้อื่น และวันถึงกำหนดจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินเป็นวันภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของโจทก์แล้ว ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนเงินตามตั๋วแลกเงินเท่านั้น

พิเคราะห์แล้วจำเลยทั้งสามฎีกาว่าในขณะที่จำเลยแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้นั้น โจทก์ได้ตกลงหักกลบลบหนี้กับจำเลยด้วยแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341เห็นว่านายชนินทร์ พิทยาวิวิธ พยานจำเลยเบิกความว่าเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทั่วไปของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด โจทก์ เมื่อประมาณต้นปี 2522 จำเลยที่ 2 ได้เคยมาขอหักกลบลบหนี้ตามเช็คพิพาทกับหนี้ตามตั๋วแลกเงินโดยมาติดต่อกับนายชนินทร์ นายชนินทร์ตอบตกลง แต่ทางบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ได้ขอให้หักกลบลบหนี้กันเมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดตามคำเบิกความของนายชนินทร์แสดงว่าโจทก์มิได้ตกลงยอมให้จำเลยที่ 2 หักกลบลบหนี้ นอกจากนี้คำให้การของจำเลยทั้งสาม ข้อ 1 วรรคสอง ก็มีข้อความว่า “ครั้นเมื่อถึงกำหนดการสั่งจ่ายตามตั๋วเงินดังกล่าวข้องต้นโจทก์ก็ผิดนัดไม่ชำระเงินให้กับจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงได้ตกลงเอาเช็คของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คือเช็คตามฟ้องมาหักกลบลบหนี้กันไปแล้ว ฯลฯ” แสดงว่าก่อนหนี้ตามตั๋วและเงินถึงกำหนดชำระ โจทก์ยังมิได้ตกลงหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกานอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังนั้นถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 ส่วนตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ออกให้แก่นายมุยลั้งมารดาจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 110,000 บาท และจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้น ถึงกำหนดชำระเงินในวันที่ 15 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 2 รับว่าเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 2 ได้ขอหักกลบลบหนี้ตามเช็คกับหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 2 ขอหักกลบลบหนี้นั้น หนี้ตามเช็คพิพาทและหนี้ตามตั๋วแลกเงินจึงยังไม่ถึงกำหนดชำระ กรณีจึงไม่อาจบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ที่บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบหนี้กันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นเว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้กันได้ ฯลฯ ” จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำหนี้ตามตั๋วแลกเงินหักกลบลบหนี้ตามเช็คพิพาทได้ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท

Share