คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3421/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นภริยาของ บ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันหลังจาก บ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นของตนเองตลอดมา จำเลยซึ่งเป็นพี่ของ บ. มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย ต่อมาโจทก์ต้องการเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนให้ถูกต้อง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้เพราะโจทก์กับ บ. มิได้จดทะเบียนสมรสกันจึงแนะนำให้โจทก์ไปตามจำเลยมาขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทของ บ. แล้วให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ภายหลัง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะขณะนั้นที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของ บ. แล้ว การที่จำเลยทำหนังสือสัญญาว่าจะให้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ก่อนไปจดทะเบียนโอนมรดกจึงมิใช่สัญญาจะให้ที่ดิน แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีชื่ออย่างหนึ่งที่ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 ดังนั้น ที่จำเลยยื่นคำขอรับมรดกที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นการดำเนินการตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์นั่นเอง จำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท แล้วแบ่งให้โจทก์เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ภายใน 7 วันตามสัญญา หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 55 ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายบุญยงค์ ยาสุข โจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่นายบุญยงค์ถึงแก่ความตายและโจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยจำเลยเข้าครอบครองหลังจากนายบุญยงค์ถึงแก่ความตายตลอดมาถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท สัญญาจะให้ที่ดินตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่อาจบังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่ 55 ตำบลวัดขวางอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 55 ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร แก่โจทก์โดยคงเหลือเนื้อที่ 1 งาน ด้านทิศเหนือแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนายบุญยงค์ ยาสุข โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยเป็นพี่ชายของนายบุญยงค์ นายบุญยงค์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) เล่ม 13 หน้า (11) 19 สารบบ เล่มเลขที่หน้า 55 ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร นายบุญยงค์ถึงแก่ความตายเมื่อ 20 ปีมาแล้ว โจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 ต่อมาจำเลยได้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามคำเบิกความของจำเลยนายบุญยงค์ซื้อที่ดินพิพาทในปี 2514 โดยขณะนั้นยังไม่มีภริยา หลังจากนั้นนายบุญยงค์จึงได้โจทก์เป็นภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและโจทก์ไม่สืบพยานว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทระหว่างอยู่กินกับนายบุญยงค์ แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายบุญยงค์ผู้เดียว เมื่อนายบุญยงค์ถึงแก่ความตายจึงตกเป็นมรดกของจำเลย และจำเลยครอบครองจนปัจจุบัน โจทก์มาฟ้องเกิน 1 ปี ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ข้อนี้จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายบุญยงค์ ฟ้องโจทก์คดีขาดอายุความ 1 ปี นับแต่นายบุญยงค์ถึงแก่ความตายโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท แต่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยกลับเบิกความยอมรับว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนายบุญยงค์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินซึ่งอ้างว่าเป็นของโจทก์เองแต่มีเหตุขัดข้องทางกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทซึ่งมีชื่อนายบุญยงค์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองทางทะเบียนมาเป็นของโจทก์ได้ จึงให้จำเลยไปดำเนินการขอรับโอนมรดกของนายบุญยงค์ไว้ก่อน แล้วจึงให้จำเลยโอนคืนแก่โจทก์ภายหลัง เช่นนี้มิใช่เป็นการฟ้องคดีเรียกเอาทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ทั้งกรณีนี้มิใช่การฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า สัญญาตามเอกสารหมายจ.2 มีผลสมบูรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า หลังจากนายบุญยงค์สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นที่ดินของตนเองตลอดมาโดยที่จำเลยมิได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาก่อน ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์คงมีตัวจำเลยอ้างตนเองเบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมานับแต่วันที่นายบุญยงค์สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่เหตุที่โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็เป็นเพราะโจทก์ต้องการเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้ และแนะนำให้โจทก์ไปตามจำเลยมาเพื่อดำเนินการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทของนายบุญยงค์ แล้วจึงให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ภายหลัง จึงไม่เป็นการถูกต้อง เพราะขณะนั้นที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของนายบุญยงค์อีกต่อไปดังนั้น การที่จำเลยทำหนังสือสัญญาว่าจะให้ที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ก่อนไปดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดก จึงมิใช่สัญญาจะให้ที่ดิน แต่เป็นสัญญาที่ไม่มีชื่ออย่างหนึ่งจึงหาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2538 ที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกันการที่จำเลยไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นกรณีที่จำเลยไปดำเนินการตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 นั่นเอง ดังนั้น จำเลยจึงต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share