คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การตกลงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ผู้กู้ค้างชำระไม่น้อยกว่า1ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา655วรรคหนึ่งบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหาได้บัญญัติว่าข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ดังนั้นหากข้อตกลงได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่จำต้องให้ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยินยอมจะเอาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้ให้ผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยโดยผู้จำนองยินยอมเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันภัยอัคคีภัยดังกล่าวและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเองผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน1เดือนนับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบจากข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยจะรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปหากโจทก์ยังไม่ได้ชำระก็ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์นอกจากนี้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระนั้นเป็นเบี้ยประกันในอนาคตที่จำเลยยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระและยังไม่ทราบจำนวนเบี้ยประกันภัยที่แน่นอนและมิได้ระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ขอให้จำเลยชำระจึงไม่ทราบว่าจำเลยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยไปจำนวนเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์1,100,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 13,300 บาท ทุกวันที่15 ของเดือน เริ่มแต่เดือนเมษายน 2536 และจะต้องชำระให้เสร็จภายใน 20 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ หากจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที และถ้าผิดนัดชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี ยอดให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกับสัญญากู้ในต้นเงินนั้นได้ จำเลยทั้งสามได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงิน โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสามยอมชดใช้ส่วนที่ขาดจนครบ โดยจำเลยทั้งสามได้ประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยหลังจากทำสัญญากู้เงินจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ครบถ้วนทุกงวดตามสัญญาค้างชำระดอกเบี้ย 1 ปี โจทก์นำมาทบเข้าเป็นต้นเงิน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม2537 เป็นเงิน 99,828.77 บาท ถึงถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ต้นเงิน 1,199,828.77 บาท ดอกเบี้ย 256,417.16 บาท และเบี้ยประกันภัย 2,121 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,458,366.96 บาทโจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 1,199,828.77 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยตามจำนวนที่โจทก์จ่ายไปจริงทุก 3 ปีต่อครั้ง ตั้งแต่ปี 2540จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 2 และที่ 3ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,170,619.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปีในต้นเงิน 1,100,000 บาทนับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,270,419.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 1,100,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยจำนวน 99,828.77 บาท ที่จำเลยทั้งสามค้างชำระเป็นเวลา 1 ปีทาทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงินที่ทบเข้าด้วยกันได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 4 วรรคสาม ระบุว่าถ้าจำเลยทั้งสามผิดนัดค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดทบเข้ากับต้นเงินได้แล้วยินยอมเสียดอกเบี้ยในต้นเงินใหม่ในอัตราเดียวกันกับสัญญานี้ และตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ตามลำดับโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสกล สกลนุรักษ์ เข้าทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยทั้งสามแทนโจทก์ ซึ่งตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2 ระบุว่าถ้าจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี ยินยอมให้ทบจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินในวันที่ครบกำหนด 1 ปี และยินยอมเสียดอกเบี้ยในต้นเงินใหม่ดังกล่าวตลอดไปในอัตราเดียวกันจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นโจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระครบ 1 ปีทบเข้ากับต้นเงินเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2537 จำนวน 99,828.77 บาท และคิดดอกเบี้ยในต้นเงินใหม่ได้นั้น เห็นว่า ในเรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคแรก บัญญัติห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระแต่ถ้าดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การตกลงกันระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นโดยผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ผู้กู้ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันได้นั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ หาได้บัญญัติว่าข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ ฉะนั้น เมื่อตกลงที่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวย่อมมีผลใช้บังคับได้ หาจำต้องลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ดังกล่าวที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ทั้งนี้เพราะข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ และเสียประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้กู้ฝ่ายเดียวการที่กฎหมายกำหนดในข้อตกลงที่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นต้องทำเป็นหนังสือก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่มั่นคงเชื่อถือได้ เมื่อข้อตกลงดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลเสียจากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ย่อมต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องบังคับให้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้อีก เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.8 เป็นหนังสือที่แสดงข้อตกลงระหว่างโจทก์ผู้ให้กู้และจำเลยทั้งสามผู้กู้ว่าจำเลยทั้งสามในฐานะผู้กู้ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้โดยยินยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีทบเข้ากับต้นเงินได้ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในต้นเงินใหม่ในอัตราเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยจำนวน 99,828.77 บาท ที่จำเลยทั้งสามค้างชำระเป็นเวลา 1 ปี มาทบเข้ากับต้นเงิน 1,100,000 บาทตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2537 รวมเป็นเงิน 1,199,828.77 บาทแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงินที่มีดอกเบี้ยทบเข้าด้วย ตามข้อตกลงดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยประกันอัคคีภัยจากจำเลยทั้งสามนับแต่ปี 2540 ทุก ๆ 3 ปี ต่อครั้งจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้เสร็จหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.9 และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 55922 ตำบลมีนบุรี (แสนแสบ) อำเภอมีนบุรี (แสนแสบ)กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 5 ว่าผู้จำนองยินยอมจะเอาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองตามข้อตกลงนี้ไว้กับบริษัทประกันภัยที่ผู้รับจำนองเห็นชอบโดยผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยตามจำนวนเงินที่ผู้รับจำนองจะแจ้งให้ทราบแต่ละปี โดยผู้จำนองยินยอมเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองตลอดไปทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันภัยอัคคีภัยดังกล่าวและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเองผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบนั้น เห็นว่า ตามข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จำเลยทั้งสองก็ต้องชำระคืนแก่โจทก์ดังนั้นหากโจทก์ยังมิได้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ปี 2540 หลังจากฟ้องคดีแล้วนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเบี้ยประกันภัยที่จำเลยยังไม่มีหนี้ต้องชำระและยังไม่ทราบจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยที่แน่นอนอีกด้วย นอกจากนี้ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ปี 2540 จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นนั้น ก็มิได้ระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จะขอให้จำเลยชำระ จึงไม่อาจทราบว่าจำเลยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยเป็นจำนวนเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับให้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อรวมเงินต้นจำนวน 1,100,000 บาท เข้ากับดอกเบี้ยค้างชำระ 99,828.77 บาท ที่โจทก์มีสิทธินำเข้าทบกับต้นเงินได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2538 รวมเป็นเงิน 1,199,828.77 บาทรวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2537ถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538) เป็นเงินไม่เกิน256,417.16 บาทตามที่โจทก์ขอ กับค่าเบี้ยประกันภัยอีก 1,539 บาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นยอกเงินที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,199,828.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่26 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจากเงิน 1,199,828.77 บาท มิให้เกิน256,417.16 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้ชำระเบี้ยประกันภัย 1,539 บาทแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share