คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนรับโอนที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งปันให้แก่ทายาทเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก จึงมีเหตุถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายแสวง บุญมาแย้มผู้ตาย ตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งของผู้ตาย เกิดจากนางยง บุญมาแย้ม มารดา จำเลยได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ไม่แบ่งปันแก่ทายาทอื่น เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตน จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ขอให้ศาลถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทน โจทก์ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกผู้ตายด้วย
จำเลยให้การว่า ผู้ตายได้ยกที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยตั้งแต่ก่อนถึงแก่ความตาย จำเลยครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวหรือฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนายแสวง บุญมาแย้ม ผู้ตาย และตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกต่อไปคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นบุตรของนายแสวง บุญมาแย้ม ผู้ตาย หลังจากจำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยได้จดทะเบียนรับมรดกที่พิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว คดีมีข้อวินิจฉัยว่ามีเหตุถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ผู้ตายหรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ และจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้จดทะเบียนรับมรดกที่พิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายไม่ได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลย จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาดังกล่าวจำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาภายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรม จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของผู้ตายแม้จำเลยจะครอบครองมานานเกินกว่า 10 ปี ดังที่จำเลยฎีกาจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ส่วนจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนรับโอนที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งปันให้แก่ทายาทอื่น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาเช่นกัน หากแต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก คดีมีเหตุถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคแรก”
พิพากษายืน

Share