คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. เจ้ามรดกมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ด้วย การที่จำเลยนำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งปันกันโดยไม่แบ่งให้โจทก์หรือกันส่วนของโจทก์ไว้ จึงเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการร่วมกันเบียดบังที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์โดยทุจริต โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓, ๓๕๔ จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีกำหนดคนละ๑ ปี ปรับคนละ ๘,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๑ ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายไสวเป็นบุตรนางสี โฉมไว เจ้ามรดก นางสีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ประมาณ ๕ – ๖ เดือน ต่อมานางไสวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๓ และนายพร โฉมไว เป็นบุตรนางไสว นางสีเจ้ามรดกมีที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท คือที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๖๔, ๑๒๖๓๕ ตำบลบ้านศาลา อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๔๘ ตารางวา และ ๒ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา ตามลำพับ กับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๔๗ ตำบลบ้านกลาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๓ งาน ๑๖ ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๔๘ ตำบลบ้านกลาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒๘ ตารางวา โจทก์อ้างว่านางสียกให้ และโจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ไม่ยอมแบ่งให้ผู้ใด วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๘ ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางสี วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๔๗ ให้แก่ตนเอง แล้วโอนให้นายพรบุตรนายไสว ครั้นวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๖๓๕ ให้ตนเอง และจำเลยที่ ๒ ต่อมาวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๖๔ ให้ตนเองและจำเลยที่ ๒ อีก วันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ยอมให้จำเลยที่ ๓ มีชื่อในโฉนดดังกล่าวในฐานะเจ้าของร่วม เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ คดีมีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยข้างต้นเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินตามโฉนดข้างต้นเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางสีเจ้ามรดกด้วย การที่จำเลยนำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งปันกันโดยไม่แบ่งให้โจทก์หรือกันส่วนของโจทก์ไว้ จึงเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการร่วมกันเบียดบังที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์โดยทุจริต และโดยเฉพาะจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ด้วย การที่โจทก์ไม่ยอมแบ่งที่ดินโฉนดที่ ๑๖๔๘ ที่โจทก์ครอบครองอยู่ให้ผู้ใด และที่จำเลยนำสืบว่าได้แจ้งให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินแล้ววันนัดโจทก์ไม่ไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ทำให้จำเลยมีอำนาจเอาที่ดินมรดกส่วนของโจทก์มาโอนใส่ชื่อจำเลยกับพวกได้ จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และ ๓๕๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ขอได้
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ประกอบด้วยมาตรา ๓๕๔ ให้จำคุก ๑ ปี ปรับ ๘,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ให้จำคุกคนละ ๖ เดือน ปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ ๑ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐

Share