คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341-350/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จังหวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนนั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้กระทำการใดอันเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ราชการในตำแหน่งแล้ว จังหวัดก็จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจฟ้องจังหวัดเป็นจำเลยได้
โจทก์ปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินของตนต่อมาน้ำในแม่น้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้าไปถึงใต้ถุนอาคาร โจทก์จึงได้ต่อเสาและเอาไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันมิให้อาคารของตนพังลงนั้น หาใช่โจทก์เข้าไปปลูกปักอาคารในที่ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามความหมายของประกาสคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ไม่.

ย่อยาว

ตามฟ้องของโจทก์ทั้ง ๑๐ สำนวนได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและห้องแถวซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนห้องแถว โดยอ้างอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบ จึงขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องและเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเสีย
จำเลยให้การปฏิเสธเป็นอย่างเดียวกันทุกสำนวนว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๔ ไม่มีผลบังคับ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรื้อถอนอาคารของโจทก์
จำเลยทั้ง ๑๐ สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๑๐ สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จังหวัดเป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยสภาพย่อมไม่สามารถกระทำการด้วยตนเองได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้กระทำโดยทางผู้แทน และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมเห็นได้ว่าผู้แทนของจังหวัด ก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด คดีนี้ แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์จะมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารบ้านเรือนโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ ก็ดี แต่การที่กระทำไปนั้นก็เป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์เป็นนิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบ จึงเห็นว่า โจทก์ฟ้องจังหวัดนครสวรรค์เป็นจำเลยได้
ที่จำเลยฎีกาว่า อาคารของโจทก์ขณะปลูกสร้างได้ปลูกลงในที่ดินของตน ต่อมาที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดของโจทก์ได้กลายสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว และอาคารของโจทก์ทั้งหมดหรือบางส่วนได้รุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยเห็นว่าขณะนี้อาคารของโจทก์ได้รุกล้ำที่หรือทางสาธารณะแล้ว คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งให้โจทก์ทุกสำนวนรื้ออาคารนั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๔ และชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า คดีทั้ง ๑๐ สำนวนนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะปลูกสร้างอาคารนั้น ได้ปลูกลงในที่ดินของเอกชน ต่อมาลำน้ำน่านได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาถึงใต้ถุนอาคารซึ่งบัดนี้เป็นของโจทก์ จึงเห็นว่าโจทก์ทั้ง ๑๐ สำนวนมิได้เข้าไปปลูกปักอาคารในที่ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังคำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๔ เพราะอาคารของโจทก์ทั้ง ๑๐ สำนวนได้ปลูกสร้างในที่ดินของเอกชนมาช้านานแล้วเป็นแต่น้ำในลำแม่น้ำน่านได้เซาะตลิ่งพังเข้าไปถึงใต้ถุนของอาคารเหล่านั้นต่างหาก ส่วนที่โจทก์ได้ต่อเสาและไม้ค้ำยันป้องกันมิให้อาคารทรุดพังลงนั้น ก็ไม่ใช่เป็นการที่โจทก์เข้าไปปลูกปักอาคารในที่ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันดังที่จำเลยฎีกา เพราะเป็นแต่โจทก์ได้ต่อเสาและไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันไม่ให้อาคารของโจทก์พังลงเท่านั้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย.

Share